CRC ต่ำจอง หยวนต้าชี้เป้า 48 บาท ท้าชิง”โลตัสฯ” แข่ง BJC “เจ้าสัวเจริญ”

HoonSmart.com>>เซ็นทรัล รีเทลฯ ถือฤกษ์ดี 20/02/20 เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก ภาวะไม่เป็นใจ ราคาปิดที่ 41.75 บาท ติดลบ 0.25 บาทจาก IPO  หุ้นเข้า SET50 และ SET 100  เริ่ม 25 ก.พ. “ญนน์” ซีอีโอยันธุรกิจมั่นคง ตั้งงบลงทุน 3-5 หมื่นล้านบาท ไม่รวมซื้อกิจการ คาดเติบโตประมาณ 10-12% ต่อปี “ทศ จิราธิวัฒน์”ประกาศยื่นประมูลซื้อเทสโก้ โลตัส  แข่ง เบอร์ลี่ ยุคเกอร์  บล.หยวนต้าแนะซื้อ CRC ให้เป้า 48 บาท บล.เอเซียพลัสยก 5 เหตุผลคาดเหนือจอง กำไรปีนี้ 8,200 ล้านบาท ส่วน BJC “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา” เป็นตัวแทนทีซีซีฯรายงานขาย 30 ล้านหุ้น ราคา 39.50 บาท/หุ้น เป็นเงิน 1,185 ล้านบาท

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรก ( 20 ก.พ. 2563) เปิดที่ราคา 42 บาท เท่ากับราคาเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)ขึ้นไปสูงสุดเพียง 42.25 บาท  แต่ปิดที่ 41.75 บาท ติดลบ 0.25 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขายเพียง 7,637 ล้านบาท นับว่าราคาแข็งแกร่ง เทียบตลาดหุ้นโดยรวมที่ทรุดลงถึง 14.30 จุด หรือเกือบ 1% ดัชนีปิดที่ 1,491.24 จุด

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เปิดเผยว่า ราคาหุ้นที่เปิดซื้อขายในวันแรก ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ แสดงให้เห็นถึงธุรกิจมีความมั่นคง และจะมีการขยายธุรกิจเพื่อสร้างฐานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงพันธมิตรก็แข็งแกร่งขึ้นด้วย  บริษัทฯตั้งงบลงทุนรวม 3-5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายสาขา  ปรับปรุงสาขาเดิม และพัฒนาระบบเทคโนโลยี ทั้งนี้ยังไม่รวมกับการเข้าซื้อกิจการ

ส่วนแนวโน้มผลการดำนินงานจะดีอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเติบโตประมาณ 10-12% ต่อปี สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ที่ขยายตัว 1.5-2 % จากการเน้นขยายการลงทุนใน 3 ประเทศที่มีอยู่ประกอบด้วย ประเทศไทย, เวียดนาม และอิตาลี ยังคงมีทิศทางที่ดีอยู่

นายญนน์กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19   เพราะมีลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวประมาณ 5-6% บริษัทฯมั่นใจในแพลตฟอร์มสั่งสินค้าออนไลน์ จะมีส่วนเสริมความแข็งแกร่ง โดยได้รับความนิยมจากลูกค้าจำนวนมากและยังมีบริการ Grab Express ที่ช่วยส่งของให้ลูกค้าได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น  จะช่วยผลักดันให้เติบโตตามเป้าหมายในอนาคตได้

นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน สายงานวานิชธนกิจ และตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร เปิดเผยว่า ราคาหุ้น CRC ที่ลดลงต่ำกว่าราคาจองที่ 42 บาท เป็นเพราะตลาดหุ้นโดยรวม ซึ่งไม่เกี่ยวกับพื้นฐานของบริษัท ที่มีจุดแข็งในตลาดที่แข็งแกร่ง เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ มีช่องทางจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงมีการกระจายการลงทุนในไทย , เวียดนาม และอิตาลี ซึ่งมีกลุ่มธุรกิจทั้ง กลุ่มแฟชั่น กลุ่มจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าตกแต่ง รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

ด้านนายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อเข้ายื่นประมูลซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส คาดว่าจะยื่นประมูลในช่วงสิ้นเดือนก.พ. 2563

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2563 ผู้บริหารบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ประกาศตัวว่าจะเข้าประมูลซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตลาดกังวลว่าบริษัทอาจจะจำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนสำหรับการลงทุนครั้งใหญ่นี้

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศให้นำหุ้น CRC เข้าคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 2563 เป็นต้นไป และนำหุ้นของบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ออกจาก SET 50 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ออกจาก SET100

บล.หยวนต้าแนะนำ”ซื้อ” หุ้น CRC ให้ราคาเป้าหมาย 48 บาท จุดเด่นจากการเป็นผู้นำธุรกิจคาปลีก มีความหลากหลายจาก 3 ธุรกิจ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาด อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการเกิดโรคระบาดมีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวและกำลังซื้อ

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส คาดว่าราคาหุ้น CRC ในช่วง 1 เดือนหลังเข้าตลาดจะเหนือราคาจองและปรับตัวได้ดีกว่าตลาด เพราะได้ 5 แรงขับเคลื่อนหลัก โดยประเมินภาพรวมกำไรเบื้องต้นปี 2563 หากใช้ฐานกำไร 4 ไตรมาสล่าสุด (ไตรมาส 4/61 –ไตรมาส 3/62) ราว 6,500 ล้านบาท รวมงบ ROBINS อีก 46.17% ในปี 2563 ประมาณ 1,300 ล้านบาท บวกผลกำไรที่ตํ่ากว่าปกติของ CRC จากผลประโยชน์พนักงาน จะทำให้ฐานกำไรปี 2563 อยู่ที่ 8,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.3% จากกำไร 4 ไตรมาส  เทียบกับราคา IPO ที่ 42 บาท จะมีค่า P/E  31.7 เท่า ถือเป็นระดับสมเหตุสมผล หากอิงค่าเฉลี่ย P/E และการเติบโตของกำไรกลุ่ม ที่ 30.7 เท่า และ 11.9% ตามลำดับ

ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าราคาหุ้น CRC น่าจะปรับตัวขึ้นดีกว่าตลาดในช่วง 1 เดือนแรกที่เข้ามาซื้อขาย  มาจาก 5 แรงขับเคลื่อนหลัก คือ

1. CRC มีมูลค่ากิจการกว่า 2.6 แสนล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของหุ้นทั้งหมดและมีสัดส่วน 1.6% ของตลาด เข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ได้ทันที (T+3)   ใช้ราคาปิดวันที่ 24 ก.พ.2563

2. ระหว่างช่วง T+3 คาดว่าจะมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันเข้ามาช่วยหนุน เนื่องจากเม็ดเงินที่จองซื้อหุ้น CRC ก่อนเข้าตลาดฯจาก 6 บลจ.ไทย ยังน้อยกว่าสัดส่วนมาร์เก็ตแคป
ของ CRC ในตลาด  รวมถึงมีแรงเก็งกำไรจากกองทุน Active Fund ในช่วงก่อนที่หุ้น CRC จะถูกเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100

3. มีเม็ดเงินจากกองทุน Index Fund ที่มีวัตถุประสงค์ลงทุนอ้างอิงตามดัชนี คอยหนุนราคาหุ้น ณ วันที่ T+3

4. บริษัทมีกรีนชูอีกกว่า 169 ล้านหุ้น (10% ของหุ้นที่เสนอขายครั้งนี้) คอยหนุนไม่ให้ราคาหุ้นต่ำจองในระยะเวลา 1 เดือน

5. MSCI ประกาศนำหุ้น CRC เข้าดัชนี MSCI Global Standard แทน ROBINS ทันที และน่าจะเข้าคำนวณดัชนี FTSE Global Large Cap เช่นเดียวกับกรณีของ AWC (ประกาศหลังจากเข้าซื้อขาย 1 วัน)

ด้าน นายเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รายงานก.ล.ต. ว่า ได้ขายหุ้น BJC จำนวน 30 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ย 39.50 บาท/หุ้น รวมเป็นเงิน 1,185 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุดวันที่ 20 ก.พ. ราคาปิดที่ 38.50 บาท บวก 0.25 บาท

ทั้งนี้ นายเจริญและคุณหญิงวรรณาได้รายงานในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น ซึ่งทีซีซีฯถือหุ้น BJC อันดับหนึ่ง หลังขายหุ้นครั้งนี้คงเหลือจำนวน 2,645.73 ล้านหุ้น