บลจ.บัวหลวง ตั้งเป้า AUM แตะ 9.55 แสนลบ.ปี63 หุ้นไทยเน้นปันผลเกิน 4%

HoonSmart.com>>บลจ. บัวหลวง เปิดแผนปี 63 ส่งกองทุนใหม่ 8-9 กอง ย้ำความสำคัญในประเด็น ESG  จัดพอร์ตลงทุนในภาวะโลกผิดปกติ ตราสารหนี้-ตราสารทุน-ตราสารทางเลือก   50%-25%-25% ทั้งในและต่างประเทศ ทองก็น่าสนใจ ตั้งเป้าราคาทองแตะ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง เปิดเผยว่า ในปี 2563 บริษัทตั้งเป้ามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม ( AUM) 955,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 910,110 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนรวม มูลค่า 572,000 ล้านบาท , กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์(REITs)-โครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure)-อสังหาริมทรัพย์(Property) มูลค่า 224,000 ล้านบาท , กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ 94,000 ล้านบาท และ กองทุนส่วนบุคคล 19,000 ล้านบาท

นอกจากนี้เตรียมออกกองทุนใหม่จำนวน 8-9 กอง ได้แก่ กองทุนตราสารหนี้ 1 กอง, กองทุน SSF 1 กอง , RMF 1 กอง, Multi Asset 3 กอง

ส่วนผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อตลาดทุนทั่วโลก นายพีรพงศ์กล่าวว่า บริษัทได้กระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งเอเชีย และจับมือกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมต่างๆในการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ถือว่ากลยุทธ์ที่ บลจ. บัวหลวงใช้ในการกระจายไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ส่วนการลงทุนในทองคำ  เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ จากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ สนับสนุนให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้น คาดว่าในปีนี้จะถึง 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับการลงทุนในหุ้นไทย นายพีรพงศ์กล่าวว่า ในปี 2563 ประมาณการแบบอนุรักษ์นิยมไว้ที่ระดับสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E)ในช่วง 15-16 เท่า กำไรต่อหุ้น 95.71 บาท/หุ้น กลยุทธ์กระจายการลงทุนตั้งผลตอบแทนในกรอบที่ 3-4% ถือว่าตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่ผันผวน แบ่งลงทุนในตราสารหนี้ 50% , ตราสารทุน 25% และตราสารทางเลือก 25% ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนการลงทุนในหุ้นไทย เน้นการลงทุนในหุ้นปันผล 4% ขึ้นไป

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อว่า บริษัทที่แข็งแรงสร้างความยั่งยืน ก็เป็นอีกแนวโน้มที่กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะนอกจากขนาดของธุรกิจ (Size) และเครือข่ายสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันแล้วยังมีผลตอบแทนระยะยาว   ปัจจัยด้าน ESG ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)  นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการที่ภาครัฐและสังคมตระหนักมากขึ้น ในทางกลับกันหากธุรกิจใดทำให้สาธารณชนเกิดความเคลือบแคลงใจ ต่อประเด็นด้าน ESG แล้ว อาจจะส่งผลให้แนวโน้มของธุรกิจไม่สดใสก็เป็นได้

“การลงทุนโดยให้ความสำคัญกับ ESG เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก  MSCI เคยจัดทำผลสำรวจพบว่า กิจการที่มีคะแนน ESG สูง จะให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนและเติบโตได้ดีในระยะยาว  การลงทุนก็เช่นกัน เรามักจะพบว่า หุ้นของบริษัทที่มีความสุ่มเสี่ยงกับประเด็นด้าน ESG มักจะถูกประเมินมูลค่าที่ลดลงเมื่อเทียบกับธุรกิจใกล้เคียงกัน ดังนั้น ถึงแม้บริษัทที่มีปัญหาด้าน ESG จะมีราคาหุ้นไม่แพง ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า บริษัทนั้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต” นายพีรพงศ์ กล่าว