AAV ปี 62 ขาดทุน 474 ลบ. โควิด-19 หั่นเป้าผู้โดยสารปีนี้เหลือ 20.5 ล้านคน

HoonSmart.com>> “เอเชีย เอวิเอชั่น” พลิกขาดทุนปี 62 จำนวน 474 ล้านบาท จากปีก่อนกำไร แม้นักท่องเที่ยวในไตรมาส 4/62 เริ่มฟื้นตัว เหตุค่าใช้จ่ายเพิ่ม บาทแข็ง ชี้ปัจจัยลบใหม่ โควิด-19 “ไทยแอร์เอเชีย” หั่นเป้าผู้โดยสารปี 63 ลงเหลือ 20.5 ล้านคน

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2562 ขาดทุนสุทธิ 474 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.0977 บาท พลิกจากกำไรสุทธิ 69.96 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.0144 บาท

ปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 41,553.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,352.9 ล้านบาท หรือ 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีขาดทุนก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงินและภาษีเงินได้จำนวน 100.0 ล้านบาท พลิกจากกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงินและภาษีเงินได้จำนวน 660.1 ล้านบาทในปีก่อน

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2562 มีรายได้รวม 10,333.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 10,291.6 ล้านบาท ค่อนข้างคงที่จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีขาดทุนสุทธิจำนวน 72.1 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปี ก่อน 73% เนื่องจากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการปรับราคาค่าโดยสาร โดยเฉพาะจากเส้นทางบินในประเทศ อย่างไรก็ตามรายได้จากเส้นทางบินระหว่างประเทศภายหลังแปลงค่าในสกุลเงินบาท ยังคงถูกกดดันด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวน และค่าเงินสกุลเงินอื่นๆ

ทั้งนี้ AAV เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยแอร์เอเชีย (TAA) ซึ่งประกอบธุรกิจสายการบินไทยแอร์เอเชีย โดยถือหุ้น 51%

สำหรับสายการบินไทยแอร์เอเชียมีจำนวนผู้โดยสารรวมในปี 2562 จำนวน 22.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน ในขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2562 มีจำนวน 5.4 ล้านคน ลดลงเล็กน้อย 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารอยู่ที่ 6,398 ล้านที่นั่ง หดตัว 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากการปรับแผนปริมาณที่นั่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการบินและให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทาง

สำหรับปี 2563 บริษัท ไทยแอร์เอเชีย ปรับลดเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารมาอยู่ที่ 20.5 ล้านคน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้อัตราขนส่งผู้โดยสารปรับลงเล็กน้อยที่ 84% อย่างไรก็ตามบริษัท ไทยแอร์ เอเชีย มีความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดความถี่หรือยกเลิกเที่ยวบินต่างๆ และการจัดเส้นทางบินใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทาง รวมถึงการต่อยอดการบริหารต้นทุน

นอกจากนี้หากสถานการณ์ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ บริษัทจะไม่หยุดยั้งในการจับตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอเชียใต้และตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งยังเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางยอดนิยมเพื่อขยายส่วนแบ่งการตลาดให้แข็งแกร่งขึ้น

นอกจากนี้ การนำเครื่องบินรุ่นใหม่ A321นีโอ ซึ่งมีจานวนที่นั่งที่เพิ่มมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงมากขึ้น มาทดแทนเครื่องบินเดิมที่ปลดประจาการ ประกอบกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยาน จะช่วยให้ต้นทุนต่อหน่วยของบริษัทมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติการขายอากาศยานและเช่าอากาศยานกลับ (Aircraft Sale and Leaseback) จำนวน 9 ลำ และขายอากาศยานจำนวน 1 ลำ โดย ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 รายการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 4 ลำ จาก 10 ลำ ซึ่งประกอบด้วย การขายอากาศยานและเช่ากลับจำนวน 3 ลำ และการขายอากาศยานจำนวน 1 ลำ คงเหลือรายการที่จะขายและเช่ากลับ 6 ลำ ซึ่งคาดว่าจะดาเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/63