ความจริงความคิด : เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

เข้าสู่วัยเกษียณ นอกจากหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องออกจากบ้านมาทำงานทุกเช้ากว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึก แถมตอนนอนบางทียังสะดุ้งฝันถึงงาน เครียดมากๆ จำได้ว่าภาวนาตลอดเวลาว่าขอให้เกษียณเร็วๆซะทีจะได้พักผ่อนบ้าง (คล้ายๆกับเด็กที่ตอนเรียนเบื่ออ่านหนังสือเบื่อสอบ อยากเป็นผู้ใหญ่เร็วๆ) ปรากฏว่าเกษียณจริงๆ ชีวิตไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิดขนาดนั้น

วันนึงเจอรุ่นน้องถาม “พี่ๆ ตอนเกษียณกับตอนทำงาน ตอนไหนเครียดกว่ากัน?” ฟังปุ๊บก็ชวนให้คิดเลยตอนไหนเราเครียดกว่า แต่สุดท้ายก็ตอบน้องไปว่า “แล้วแต่คนนะ ถ้าตอนทำงานเขาได้ทำงานที่ชอบ อยู่ในภาวะแวดล้อมที่ดี รายได้มั่นคง ตอนเกษียณก็น่าจะเครียดกว่า เพราะสิ่งที่ดีๆไม่มีอีกแล้ว แต่ถ้าตอนทำงานกลับตรงข้ามเขาไม่ได้ทำงานที่ชอบ แถมอยู่ในภาวะแวดล้อมที่แย่ โดนบีบเป้าอย่างหนักตลอดเวลา รายได้ไม่มั่นคง ทำงานไม่มีความสุข ตอนเกษียณก็อาจมีความสุขมากกว่า แม้ว่าจะมีความเครียดเรื่องรายได้ก็ตาม”

สำหรับคนเกษียณอายุมักจะเครียดหลักๆอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องรายได้ที่หายไปหรือลดน้อยลง กับเรื่องสุขภาพ วันนี้เราจะมาคุยเรื่องรายได้กันนะ

รายได้ของผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) ส่วนใหญ่จะมาจาก

เงินก้อน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน RMF ประกันชีวิต หรือ การลงทุนอื่นๆที่เราสะสมเตรียมเอาไว้ ถ้าใครวางแผนมาดีมีเงินก้อนใหญ่มากพอ ก็สบายใจได้เรื่องเงินหลังเกษียณ

เงินได้ประจำที่มาทดแทนเงินเดือนที่หายไปของเรา สมัยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งที่ดอกเบี้ยแบงค์มากกว่า 10%/ปี เงินได้ประจำไม่ค่อยมีปัญหา เพราะสามารถถอนดอกเบี้ยของเงินก้อนที่สะสมไว้มาใช้จ่ายได้ แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยต่ำมาก แถมการลงทุนก็เสี่ยงมาก ทำให้การสร้างเงินได้ประจำที่มากพอทำได้ยาก

ดังนั้น ผู้สูงอายุอย่างเราจึงต้องมองหาแหล่งเงินได้ประจำแหล่งเงินมาเสริม ที่เห็นได้ชัด ก็คือ บำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม แต่ได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับเงินสะสมและระยะเวลาที่เราเป็นสมาชิกประกันสังคม และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่แค่เราอายุ 60 ปีขึ้นไปเราก็ได้แล้ว งั้นเรามาดูเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกันนะ

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพคนชรา เป็นเงินช่วยเหลือที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนโดยรัฐจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเราโดยตรง ซึ่งจะโอนให้ทุกวันที่ 10 ในแต่ละเดือน หากเดือนใดวันที่ 10 ตรงกับวันหยุดราชการ จะจ่ายในวันทำการก่อนวันหยุดนั้นๆจนกว่าจะตายกันไปข้าง ดังนี้

– อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน
– อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน
– อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน
– อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน

คนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1.สัญชาติไทย มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
2.อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
3.ต้องไม่เคยได้รับสิทธิ์ประโยชน์จากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน

ในทุกๆปีจะมีการเปิดให้ผู้สูงอายุรายใหม่ ๆ ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือในปีงบประมาณถัดไปเข้ามาลงทะเบียนไว้ก่อน ดังนั้นการลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปี 2563 ก็จะเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับเงินในปีงบประมาณ 2564 (คือเดือนตุลาคม 2563-กันยายน 2564) แปลว่า เราจะลงทะเบียนตอนเราอายุ 59 ปี เพื่อปีหน้าตอนอายุครบ 60 ปีเราจะได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (อย่ารออายุ 60 ปีค่อยลงทะเบียนนะ เพราะจะมีผลให้เราได้เงินตอนอายุ 61 ปี) ดังนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนในปี 2563 จะยังไม่ได้รับเงินในทันที เพราะจะได้รับเงินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป

สรุปผู้ที่สามารถลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพในปี 2563 ได้ คือ คนที่จะมีอายุครบ 60 ปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งนับอายุจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2564 ดังนั้นต้องเป็นคนที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2504 จึงจะมีสิทธิ์ลงทะเบียนล่วงหน้าในปี 2563 เพื่อรอรับเงินในปีงบประมาณ 2564 (สำหรับผู้สูงอายุที่ทะเบียนราษฎรระบุเฉพาะปีเกิด แต่ไม่ทราบวันเกิด/เดือนเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น ๆ)

ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2563 ได้ที่ไหน อย่างไร

หากอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพได้ที่สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ส่วนต่างจังหวัดยื่นได้ที่สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยเอาหลักฐานไป ดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานรัฐที่มีรูปถ่าย
2. ทะเบียนบ้านตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารตัวจริง ประเภทออมทรัพย์ พร้อมสำเนา 1 ฉบับ

แต่หากไม่สามารถมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นมายื่นคำขอรับเงินแทนได้ โดยต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้

1. หนังสือมอบอำนาจ (แบบฟอร์มมอบอำนาจขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ อย่างละ 1 ฉบับ
3. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ อย่างละ 1 ฉบับ
ทั้งนี้ สำเนาทุกฉบับต้องลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง

สำหรับในปี 2563 เปิดให้ผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนได้ใน 2 ช่วงเวลา ดังนี้

1.ลงทะเบียนเดือนมกราคม-กันยายน 2563 สำหรับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2504
หากลงทะเบียนแล้วจะได้รับเงินเมื่ออายุครบ 60 ปี คือ
– ผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีก่อนเดือนตุลาคม 2563 จะได้รับเงินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
– ผู้ที่เกิดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2503 จะได้รับเงินในเดือนถัดไปที่มีอายุครบ 60 ปี เช่น เกิดวันที่ 12 ตุลาคม 2503 จะได้รับเงินตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 หรือหากเกิดในเดือนสิงหาคม 2504 ก็จะได้รับเงินตั้งแต่เดือนกันยายน 2564

2. ลงทะเบียนเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 เป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับเงินในปีงบประมาณ 2565
โดยผู้ที่ลงทะเบียนรอบนี้จะได้รับเงินในเดือนตุลาคม 2564 (ปีงบประมาณ 2565)

การลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนใหม่ทุกปี ลงเพียงครั้งเดียวก็ได้รับสิทธิ์ไปตลอด เว้นแต่กรณีที่ผู้สูงอายุย้ายที่อยู่ ก็จะต้องไปลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ในพื้นที่ใหม่ที่เราพักอาศัย ตั้งแต่วันที่ย้ายเข้า แต่ต้องไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น

ใครที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร (สำนักงานสวัสดิการสังคม โทร. 0 2245 5166 โทรสาร 0 2245 5166) หรือ เฟซบุ๊ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์