ทิสโก้เชียร์ทยอยสะสมหุ้นแถว 1,340 ชู 8 หุ้นเด่น บล.เอเซียพลัสแจก 6 ตัว

HoonSmart.com>> บล.ทิสโก้ มองหุ้นไทยเข้าสู่ “ภาวะหมี” ดัชนีระดับ 1,340 จุด ค่อนข้างถูก น่าทยอยสะสมหุ้น ชี้นักลงทุนควร “กล้า” มากกว่า “กลัว” เหตุปัจจัยหนุนหุ้นยังมีอยู่มาก แนะนำหุ้นเด่นเดือนมี.ค. AEONTS-BDMS-BTS-HMPRO-INTUCH- STEC-TOP -TU ส่วนบล.เอเซียพลัสประเมินหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวเร็ว แนะซื้อ MCS-INTUCH-CHG-BJCHI-CPF-CPALL  ให้หลีกเลี่ยง TKN- HANA เพราะราคาสูงเกินพื้นฐาน

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ “ภาวะหมี” หลังดัชนีปรับตัวลงหลุดระดับ 1,480 จุด หรือปรับตัวลงมากกว่า 20% จากที่เคยขึ้นสูงสุดที่ 1,850 จุดในช่วงต้นปี 2561 โดยมองว่าหุ้นในระดับปัจจุบันที่ 1,340 จุด  มีความน่าสนใจต่อการทยอยสะสม เพื่อการลงทุนอีกครั้งแล้ว

“จากการศึกษาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงภาวะหมี (Bear Market) ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 190 วันทำการ หรือประมาณ 9 เดือนจนกว่าราคาหุ้นในตลาดจะแตะจุดต่ำสุด และจะปรับตัวลงโดยเฉลี่ย 36% จากจุดสูงสุด ถ้าอิงเวลาสูงสุดของภาวะหมีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาจเห็นจุดต่ำสุดของดัชนีในช่วงปลายไตรมาส 2 เป็นอย่างช้าที่สุด หรือถ้าอิงตามค่าเฉลี่ยของการปรับตัวลงในภาวะหมีที่เคยเกิดขึ้น อาจได้เห็นดัชนีแตะจุดต่ำสุดที่บริเวณ 1,180-1,200 จุด” นายอภิชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตภาวะหมีในอดีตที่ดัชนีลงหนักๆ หรือลดลงเกินกว่า 50% ขึ้นไป จะเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ เช่น ในช่วงปี 2533 ที่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย, ปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง, ปี 2543 ที่เกิดวิกฤติ Dot-com และปี 2551 ที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ดังนั้น หากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่ส่งผลกระทบชั่วคราวคล้ายกับโรค SARS ในปี 2545 ไม่ได้นำไปสู่วิกฤติครั้งใหญ่เหมือนภาวะหมีที่เคยเกิดขึ้น คาดว่าดัชนีอาจจะปรับลดลงจากจุดสูงสุดประมาณ 21-34%  เคลื่อนไหวในกรอบ 1,220-1,460 จุด มีค่าเฉลี่ยกลางอยู่ที่ 1,350 จุด ซึ่งใกล้เคียงกับดัชนีปิดสิ้นเดือนก.พ.ที่ระดับ 1,340 จุด

นายอภิชาติ กล่าวว่า ถึงแม้การประเมินจุดต่ำสุดและระยะเวลาสิ้นสุดของตลาดหมีในแต่ละรอบไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จากการประเมินข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เช่น 1.ราคาหุ้นค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปี ซึ่งการคำนวณนี้นับรวมการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน เพิ่มเติมอีก 3-4% หลังจากที่ต้นปีได้ปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไปแล้ว 5% 2. ส่วนต่างของผลตอบแทนตลาดหุ้นเทียบกับตลาดตราสารหนี้มีมากกว่า 4% ซึ่งมีโอกาสในการทำกำไรสูงถึงเกือบ 70% ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า 3. ดัชนีหุ้น ปรับตัวลงมาแล้ว 8 เดือนติดต่อกัน (ก.ค. 2562 – ก.พ.2563) เท่ากับการปรับตัวลงสูงสุดในอดีต ดังนั้น หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ตลาดหุ้นในเดือน มีนาคมควรจะเริ่มดีดกลับได้แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกอื่นมาหนุนตลาดหุ้นไทย ทั้งพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่จะเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่เดือน มีนาคมเป็นต้นไป และโอกาสที่ธนาคารกลางหลายแห่งพร้อมจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่ม (Dovish) หากแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงชะลอตัวรุนแรง ทำให้มองว่าถึงเวลาที่นักลงทุนควร “กล้า” มากกว่า “กลัว” แล้ว แนะนำนักลงทุนกลับมาเริ่มทยอยสะสมหุ้นแบบแบ่งไม้ซื้อ เน้นการซื้อแบบสม่ำเสมอ-ไม่รีบร้อน โดยเฉพาะช่วงตลาดผันผวนตั้งแต่ดัชนีหุ้นไทย ต่ำกว่า 1,350 จุดลงมา

สำหรับหุ้นเด่นที่แนะนำในเดือน มี.ค.คือ AEONTS, BDMS, BTS, HMPRO, INTUCH, STEC, TOP และ TU ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,340 จุด แนวรับต่อมาคือ 1,320 จุด และแนวรับสุดท้ายคือ 1,300 – 1,290 จุด ส่วนแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,360-1,370 หากผ่านได้จะมีแนวต้านต่อไปที่ 1,400-1,415 จุด ตามลำดับ

ด้านบล.เอเซียพลัส วิเคราะห์ว่า ดัชนีปรับฐานแรง จน Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจ ความกังวลประเด็นไวรัสโควิค-19 ขยายวงกว้างไปในประเทศอื่นๆ หากย้อนดูในอดีต พบว่า ช่วงเวลาที่เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจติดต่อกัน เกิน 2 ไตรมาส คือปี 2540 วิกฤตต้มยํากุ้ง ปี 2551 วิกฤตซับไพร์ม และปี 2556 ประเด็นการเมืองร้อนแรง มีการประกาศยกเลิก QE กดดันเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น ส่งผลให้ดัชนีปรับฐานแรง หากวิเคราะห์ Valuation ปัจจุบัน โดยพิจารณาผ่าน Market Earning Yield Gap ภายใต้ EPS63 ในระดับต่างๆ 86.17 บาท/หุ้น พร้อมกับใช้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 1 ปี ณ ปัจจุบัน ที่ 0.92% จะได้ Market Earning Yield Gap ในช่วง 5.52 % ถือว่า กว้างมากเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 4.28% และอยู่ในระดับเดียวกันกับตอนเศรษฐกิจถดถอยในปี 2556

“คาดว่าดัชนียังมีโอกาสฟื้นได้เร็วขึ้นเหมือนอดีต หากเหตุการณ์ต่างๆผ่อนคลายลง รวมถึงเวลาเกิดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติ มีโอกาสที่ทาง กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงภายในปีนี้ ส่วนการลงทุนในเดือนมี.ค. แนะนำหุ้นที่มีมีปัจัยพื้นฐานและให้ผลตอบแทนปันผลสูง ได้แก่ MCS- INTUCH-CHG-BJCHI รวมถึงหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาด และมีข่าวดีหนุน CPF-CPALL อย่างไรก็ตามจะต้องระวังแรงเทขายหุ้นที่ราคาขึ้นมาสูงกว่าพื้นฐาน คือ TKN- HANA “บล.เอเซียพลัสระบุ

ตลาดหุ้นวันที่ 2 มี.ค. เหวี่ยงขึ้นลงกว่า 41 จุด ภาคเช้าขึ้นไปถึง 1,358.52 จุดก่อนถูกเทลงไปต่ำสุด 1,317.45 จุด  ส่วนภาคบ่ายตีขึ้นไปบวกสุดท้ายปิดที่ลบ 4.80 จุด ระดับ 1,335.72 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 74,368 ล้านบาท แม้ว่ามีแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มธนาคาร พลังงาน แต่ขายหุ้นไฟฟ้าและสื่อสาร

นักลงทุนต่างชาติขายหนักกว่า 4,326 ล้านบาท สถาบันรับ 2,748 ล้านบาท ส่วนตลาดอนุพันธ์ ต่างชาติซื้อ 1,769 ล้านบาท กองทุนขาย 3,700 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศซื้อ 1,931 สัญญา