KTAM Focus : สุขใจ

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย (KTAM)

KTAM Focus อาทิตย์ที่แล้ว “Dislocation” ชี้ภาวะ “ไม่ปกติ” ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.พ. ตลาดหุ้นร่วงลงรวดเร็วและรุนแรง ขณะความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ต่างๆผิดเพี้ยนไป ซึ่งผมได้ทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า จะทบทวนกลยุทธ์เพื่อนำเสนอผ่านช่องทางสื่อสารของ บลจ.กรุงไทย “KTAM Smart Trade” จึงขอเรียบเรียงไว้ให้ ณ ที่นี้ด้วย

Dislocation Strategy กลยุทธ์เฉพาะกิจรับมือ “ตลาดหลุด”

หมายเหตุ: มุมมองระยะยาวแทบไม่เปลี่ยน แต่ภาวะไม่ปกติอาจดำเนินต่อไปอีกสักพัก เราจึงใช้กลยุทธ์นี้เป็นการเฉพาะกิจ

“ลดความเสี่ยง” และ “เพิ่มสภาพคล่อง” เตรียมรับโอกาสลงทุน “สุดขั้ว” เมื่อตลาดปั่นป่วนราวกับพายุ สินทรัพย์คุณภาพดีอาจร่วงลงเพราะโดนเทขายจนราคาถูกสุดขีด ณ จุดที่เป็น “ก้นบึ้ง” นั้นหัวใจสำคัญต้องมีเงินสดและกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น “มากพอ” สำหรับสับเปลี่ยนผันเงินเข้าไปในกองทุนหุ้นที่เล็งไว้ เพื่อโอกาสสร้างความมั่งคั่งอย่างเป็นกอบเป็นกำในระยะยาว

เพิ่มสภาพคล่องให้เพียงพอ ช่วงนี้ควรถือเงินสดและกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นเช่น KT-STPLUS ให้มากกว่าปกติ ในมุมมองของเราประมาณ 70% ของพอร์ต ผมได้ทยอย “ยกระดับ” สัดส่วนเงินสด ตามความเสี่ยงที่สูงขึ้นซึ่งประเมินจากข้อมูลใหม่ๆ เริ่มด้วยวันจันทร์ 30% และขึ้นไป 60% ในวันพุธ ก่อนมาสิ้นสุดที่ 70% ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียง guideline เราเข้าใจและเห็นใจจริงๆว่าหลายคนอาจทำ (ใจ) ไม่ได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็มีเป้าหมายไว้ให้พยายามทำอย่างดีที่สุดก็แล้วกัน

ลดความเสี่ยงของพอร์ต ตรวจสอบการลงทุนที่มีอยู่ แยกรายสินทรัพย์ดังนี้

ตราสารหนี้ในประเทศ ใช้หลบภัยได้อยู่แล้ว กองทุนตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในไทย อาจนับรวมกับเงินสดก็ได้ในกลยุทธ์นี้

ตราสารหนี้ต่างประเทศ ชอบ KT-BOND เพราะตราสารในพอร์ตกองทุนหลักโดยเฉลี่ยมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ส่วนกองอื่นๆยังไม่ค่อยคุ้มค่าแก่การลงทุนในเวลานี้ อาจสับเปลี่ยนไปยังกองทุนตราสารหนี้ไทยเพื่อความคล่องตัว

หุ้น อยู่ในจุดที่ “เสี่ยงมาก” เพราะยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯน่าจะพุ่งขึ้นหลังรัฐบาลขยายขอบเขตการตรวจหาไวรัส ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวล นักเศรษฐศาสตร์หั่นเป้า GDP ทั่วโลก กดดันแนวโน้มกำไรและราคาหุ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดประเมินผลกระทบจาก COVID-19 “เบาเกินไป” แต่ในที่สุดก็เริ่มตระหนักว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจชะลอลงอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างและลากยาวกว่าที่คิด ยังไม่รวมข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเลขที่ดูดีขึ้นในจีน ตลอดจนความเสี่ยงของการแพร่ระบาดรอบ 2 หลังผู้คนที่นั่นทยอยกลับเข้าทำงาน ดังนั้น กองทุนหุ้น ณ จุดนี้ถ้ายังจะเหลือไว้ ก็ควรลดสัดส่วนให้ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ คำถามตามมาทันที “แล้วควรเหลืออะไรไว้?” หุ้นต่างประเทศเราชอบ KT-EMEQ, KT-WEQ ส่วนในประเทศก็ KT-ESG และกองทุนหุ้นไทยอื่นๆ รวมถึงตลาดเพื่อนบ้านอาเซียน KT-ASEAN, KT-CLMVT อาจเหลือเอาไว้ลุ้นเซอร์ไพรส์ในทางที่ดี เช่น เข้าหน้าร้อนแล้วไวรัสตาย? (ไม่รู้ว่ามีโอกาสแค่ไหน) ตลาดหุ้นภูมิภาคของเรานี่แหละน่าจะฟื้นตัวได้แรงถ้าคลี่คลายจริง หรืออาจใช้วิธีที่ง่ายกว่านั้นคือ เหลือไว้แค่ LTF โดยสับเปลี่ยนเข้าไปในกองทุนที่ถือหุ้นน้อยกว่ากองอื่นๆเช่น KTLF70/30

ทองคำ ปัจจุบันเราสบายใจกับการถือ KT-GOLD เท่านั้นเพราะ กองทุนทอง มีสภาพคล่องสูงกว่าหุ้นเหมืองทอง อนึ่ง ราคาทองปรับตัวขึ้นได้ดีในระยะนี้ เนื่องจากธนาคารกลางหลายแห่งลดดอกเบี้ย ทว่าอย่าไปไล่ราคาหรือพยายามล่ากำไรมากๆ เช่น การเพิ่มสัดส่วนทองคำจนมากเกินไปนั้นไม่ควรทำ เพราะเห็นตัวอย่างจากสัปดาห์ส่งท้าย ก.พ. แล้วว่า ในภาวะ dislocation ซึ่งสภาพคล่องหดหายไปอย่างรวดเร็วรุนแรงนั้น ทองคำก็อาจไม่ค่อยทำหน้าที่กระจายความเสี่ยงได้ดีเท่าไรนัก ดังนั้น ควรลงทุนทองคำแต่พอดี และไม่ไปเบียดบังสัดส่วนของ “เงินสด” ซึ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้

อสังหาริมทรัพย์ อาทิ KT-PROPERTY และ KT-PIF ปัจจัยพื้นฐาน “ดอกเบี้ยต่ำยาวนาน” สนับสนุนการลงทุนในระยะยาวอยู่แล้ว แต่ระวังความผิดปกติของตลาดที่อาจส่งผลให้ราคาเพี้ยนไปมากๆได้ในระยะสั้น ดังนั้นจึงควรรักษาวินัยเรื่องสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมเช่นกัน

วิธีที่ง่ายและสะดวกสุด หากต้องการปรับพอร์ตอย่างรวดเร็วทันใจให้ใกล้เคียงกับกลยุทธ์เฉพาะกิจ Dislocation Strategy คือลงทุนใน กองทุนเปิดกรุงไทยสุขใจ (KTSUK) ซึ่งเป็นกองทุนผสมประเภท Fund of Funds จัดสรรเงินกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ทั่วโลกผ่านหลากหลายกองทุนของ KTAM เหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย เน้นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ผันผวนน้อย ลงทุนในตราสารหนี้ 80% ตราสารทุน 10% และสินทรัพย์ทางเลือก 10% โดยประมาณ ระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสมคือ ระยะกลาง-ยาว (3 ปีขึ้นไป)

“สุขใจ” ไปกับ 2 ชนิดกองทุนที่มีให้เลือกทั้ง “สะสมมูลค่า” และ “จ่ายเงินปันผล”

กองทุนเปิดกรุงไทยสุขใจ (ชนิดสะสมมูลค่า) (KTSUK-A)

กองทุนเปิดกรุงไทยสุขใจ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (KTSUK-D)

 

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน