เตือนนักลงทุนอย่าเก็งกำไรเพลิน ระวังหนี Circuit Breaker ไม่ทัน

HoonSmart.com>>ในช่วงนี้โลกเกิดวิกฤต ข่าวร้ายถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน ท่ามกลางตลาดเปราะบาง  ทำให้ดัชนีหุ้นเหวี่ยงขึ้นและลงรุนแรง ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรกันอย่างสนุกสนาน ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายทะลุ 1 แสนล้านบาท ในวันที่ดัชนีหุ้นดิ่งลงแรงถึง7.96% เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563 

แต่นักลงทุนต้องอย่าลืมว่า “ตลาดผิดปกติ” การเข้าเก็งกำไรในภาวะเช่นนี้ นับเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรทำเป็นอย่างมาก หากไม่มีเงินอุ่นๆในกระเป๋า ไม่ควรเข้ามาในตลาดหุ้น เพราะคาดการณ์ไม่ได้เลยว่า “วันนี้”หุ้นจะดำดิ่งลงไปลึกขนาดไหน

ใครจะคิดว่าดัชนีหุ้นจะทรุดลงไปภายในวันเดียวกว่า 100 จุด  หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง อย่างกลุ่มปตท.ราคาจะดำดิ่งลงไปติดฟลอร์ หรือเกือบจะลงไปต่ำสุด 30% หลายบริษัท  ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือ ปตท.สผ.(PTTEP) ฟลอร์สนิท ปิดที่  74.75 บาท ติดลบ 31.75 บาท  หลังเกิดสงครามราคาน้ำมัน

ที่สำคัญนักลงทุนก็ไม่ควรลืมว่า ตลาดหลักทรัพย์มีเครื่องมือที่ช่วยลดแรงตื่นตระหนก เรียกว่า Circuit Breaker สามารถหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์โดยอัตโนมัติได้ในระหว่างชั่วโมงการซื้อขาย

กรณีภาวะการซื้อขายมีความผันผวนรุนแรง ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไปมาก เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน ตลาดจะหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว ตามหลักเกณฑ์

ครั้งที่ 1 เมื่อดัชนีหุ้นลดลงถึง 10% ของดัชนีปิดวันก่อนหน้า จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมด เป็นเวลา 30 นาที

ครั้งที่ 2 เมื่อดัชนีหุ้นลดลงอีก 10% รวมเป็น 20% ตลาดหลักทรัพย์จะพักการซื้อขายทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

หากระยะเวลาในการซื้อขายที่ Circuit Breaker ทำงานนั้นเหลือไม่ถึง 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ให้หยุดพักเพียงระยะเวลาที่เหลือ

นั่นหมายความว่า หากตลาดประกาศใช้ Circuit Breaker ในช่วงหลังเวลา 16.00 น. การหยุดซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที  ทำให้นักลงทุนที่ “หวังจับเสือมาเปล่า หนีไม่ทัน” เพราะขายออกไม่ได้ (ตลาดปิดซื้อขายแล้ว) ต้องเดือดร้อนในการหาเงินก้อนโตมาชำระค่าหุ้นที่เก็งกำไร

ยกตัวอย่างเหตุการณ์การซื้อขายของวันที่ 9 มี.ค. เป็นสัญญาณเตือนภัย แรงขายที่ออกมากดดัชนีลงไปต่ำสุดระดับ 1,249.31 จุด เหลืออีกเพียงประมาณ 20 จุด นับว่าไม่มากเลยในสถานการณ์นี้  ก็จะเข้าเกณฑ์ลดลง 10%ไปเรียบร้อย

วันนี้ไม่ได้ใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสใช้ เพราะสิ่งที่ไม่คาดฝัน เกิดขึ้นได้เสมอ

เชื่อว่าวิกฤตการณ์ที่เข้ามากระทบหลายด้าน มีโอกาสสูงที่ตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องนำ Circuit Breaker ออกมาใช้ เช่นเดียวกับดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้า ร่วงลง 1,255 จุด คิดเป็น 4.87% ก่อนเปิดการซื้อขายหุ้นในวันที่ 9 มี.ค.2563 ถือเป็นการติดลบชนเพดานสูงสุดของตลาด หลังจากที่สัญญาฟิวเจอร์สที่ซื้อขายในตลาด CME รูดลง 5% จึงเปิดใช้ระบบ Circuit Breaker เพื่อหยุดการซื้อขายชั่วคราว

ทั้งนี้ ตามเกณฑ์ของของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะมีการใช้ Circuit Breaker ใน 3 กรณีคือ

1. หากดัชนี S&P 500 ติดลบ 7% หรือ ลดลง 208 จุด จะมีการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 15 นาที

2. หากติดลบ 13% หรือลดลง 386 จุด จะหยุดพักการซื้อขายอีก 15 นาที

3. หากติดลบถึง 20% หรือ ลดลง 594 จุด จะหยุดพักการซื้อขายตลอดทั้งวัน

ในที่สุดตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ได้ใช้ Circuit Breaker เป็นตลาดแรกรอบนี้ เกิดมินิ”แบล็คมันเดย์” ดัชนีดาวโจนส์ปิด ทรุดหนัก 2,013.76 จุดหรือ -7.79%  และดัชนี S&P 500 ดิ่งลง 225.81 จุดหรือ -7.60% แต่เมื่อดาวโจนส์ล่วงหน้าตีกลับมาแรงบวกเกือบ 1,000 จุด  ทำให้ตลาดหุ้นโลกฟื้นตัว วันที่ 10 มี.ค.63 

ขอภาวนาว่าตลาดหุ้นไทยดิ่งลงเหวลึกเพียงพอแล้ว อย่าให้หลุดต่ำกว่า 1,200 จุดเลย  หากยืนไม่อยู่เกรงว่า…..