ความจริงความคิด : กองทุนการออมแห่งชาติ กับการเตรียมพร้อมสังคมสูงอายุ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ตอนนี้ไปทางไหนก็เจอแต่คนพูดเรื่อง Covid19 จนตอนนี้แทบจะลืมไป PM2.5 ไปแล้ว ทั้งที่ PM2.5 ก็ยังเยอะอยู่เหมือนเดิม แต่ก็ไม่แน่นะถ้า Covid19 ยังอยู่ต่อไปอีกนาน คนไม่ออกจากบ้าน PM2.5 อาจลดน้อยลงไปก็ได้

ผมเองก็เชื่อนะว่าด้วยความใส่ใจของประเทศต่างๆ และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี Covid19 น่าจะหมดไปนานเต็มที่ไม่น่าจะเกินปลายปีนี้ เพราะความเสี่ยงอีกอย่างที่หลายคนคงลืมไปแล้ว และส่งผลต่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า Covid19 แถมแก้ยากกว่าด้วย คือ ความเสี่ยงเรื่องสังคมคนสูงอายุ

• ผู้สูงอายุทุก 100 คนจะเป็นผู้หญิง 54 คน เป็นผู้ชาย 46 คน
• ในจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว 373,515 คน สองในสามจะเป็นผู้หญิง
• ผู้หญิงอายุยืนยาวกว่าชายคือ ผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ย 75.4 ปี ส่วนผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 68.4 ปี
• ขณะที่ ผู้หญิงกลับมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าชาย เท่ากับ 18.1% ต่อ 14.5%

ขณะที่ปัญหาคนสูงอายุกระทบทุกคน แต่ในประเทศเองยังมีความเหลื่อมล้ำและแยกกันอยู่ เอาง่ายๆ มีแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อเกษียณอายุ เช่น ข้าราชการก็จะมี กบข. ภาคเอกชนก็จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มนุษย์เงินเดือนก็จะมีกองทุนประกันสังคม แต่กับชาวบ้านทั่วไปที่น่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาการเงินหลังเกษียณมากสุดกลับไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อเกษียณอายุเลย ตอนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ก็ได้แต่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท ไม่พอกินในภาวะปัจจุบัน

เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีสิทธิในสวัสดิการออมเงินเพื่อเกษียณดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดให้มีกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของประชาชนทั่วไปที่สมัครเป็นสมาชิก และเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญ และให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ และได้เปิดรับสมัครสมาชิกได้ ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยผู้สมัครจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ คือ

• สมาชิกจะได้รับผลตอบแทนจากเงินสะสมของสมาชิกและเงินที่รัฐสมทบให้ โดยรัฐจะค้ำประกันผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง เงินที่รัฐจะจ่ายเงินสมทบให้จะผันแปรตามช่วงอายุ ของสมาชิก

– ช่วงอายุ 15-30 ปี สมทบไม่เกิน 50% ของเงินสะสม ทั้งปีไม่เกิน 600 บาท
– ช่วงอายุมากกว่า 30 – 50 ปี สมทบไม่เกิน 80% ของเงินสะสม ทั้งปีไม่เกิน 960 บาท
– ช่วงอายุมากกว่า 50 – 60 ปี สมทบไม่เกิน 100% ของเงินสะสม ทั้งปีไม่เกิน 1200 บาท

นอกจากนี้สมาชิกยังสามารถนำเงินสะสมในแต่ละปีไปยื่นลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ด้วย

• และเมื่อฝากครบจนถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์และยอดเงินในบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติของสมาชิกมีจำนวนมากพอ สมาชิกจะได้รับบำนาญรายเดือน ซึ่งจะได้รับไปตลอดชีพ โดยกองทุนการออมแห่งชาติจะจ่ายบำนาญให้กับสมาชิกทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน แม้ว่าจำนวนเงินในบัญชีรายบุคคลของสมาชิกจะหมดลงไปแล้วก็ตาม กองทุนการออมแห่งชาติจะใช้เงินกองกลางจ่ายบำนาญให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิตยังมีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญไว้ใช้ตลอดชีวิต (แต่หากออมน้อยจะได้รับเป็นเงินดำรงชีพรายเดือนเดือนละ 600 บาท จนกว่าเงินในบัญชีจะหมด)
หลายคนอาจกังวลว่าหากมีอะไรเกิดขึ้น เงินในกองทุนการออมแห่งชาติจะเป็นอย่างไร

• ถ้าทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี สมาชิกจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

• ถ้าเสียชีวิต ผู้ได้รับประโยชน์หรือทายาทได้รับเงินเท่าจำนวนเงินในบัญชี (เงินในบัญชี ได้แก่ เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์) ของแต่ละบุคคล

• แต่ถ้าสมาชิกลาออกจากกองทุน ก็จะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม

เห็นประโยชน์เยอะอย่างนี้ ใครเห็นก็อยากเป็นสมาชิก แต่เพราะ กอช. เป็นทางเลือกที่รัฐให้กับคนที่ไม่มีสวัสดิการออมงินเพื่อเกษียณอายุ ดังนั้นคนที่มีสิทธิ์เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. สัญชาติไทย
2. อายุไม่น้อยกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี เพราะเป็นการออมเงินสำหรับใช้หลังอายุ 60 ปี ดังนั้น ถ้าอายุเกิน 60 ปี ก็สมัครไม่ได้
3. ไม่อยู่ในกองทุนตามกฎหมายอื่นที่่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง
4. ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือเอกชน เช่น เป็นสมาชิกประกันสังคม (ยกเว้นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือก 1) สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ จะสมัครไม่ได้

ถ้าสนใจเป็นสมาชิก สามารถสมัครได้ที่ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา ใช้หลักฐานแค่บัตรประชาชนอย่างเดียว และเริ่มสะสมเงินงวดแรกพร้อมกับการสมัครสมาชิก โดยการส่งเงินสะสมจะต้องสะสมไม่น้อยกว่าครั้งละ 50 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี ทั้งนี้สมาชิกไม่จำเป็นที่จะต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมเท่ากันทุกเดือนด้วยนะ