ASP มองโควิด-19 ฉุด “จีดีพี” ปีนี้ติดลบ 1.4%

HoonSmart.com>>“เอเซีย พลัส” ปรับลดประมาณ จีดีพี รอบ 3 ติดลบ 1.4 %  ให้น้ำหนักรอบนี้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

งานวิจัยของ บล.เอเซีย พลัส (ASPS) ตั้งแต่ต้นปี 2563  ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP Growth มาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อสะท้อนผลกระทบต่าง ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่ฝ่ายวิจัย ฯได้ปรับลดประมาณการลงอีก โดยน้ำหนักรอบนี้มาจากเรื่องของ COVID-19

ฝ่ายวิจัยฯประเมินสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทย พบว่า มีหลายปัจจัยที่รุมเร้า ทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยภายใน เพื่อสะท้อนปัจจัยลบทำให้มีการปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ปี 63 เหลือหดตัว 1.4% yoy จากเดิมที่คาดขยายตัว 1.6%

โดยการปรับลด GDP Growth ครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า COVID-19 จะสามารถควบคุมได้ ในไตรมาส 3/63 นี้ โดยมีการปรับลดสมมติฐานหลักๆสำคัญ ได้แก่

1.ส่งออก (X) และนำเข้า (M) ในรูปดอลลาร์ ปรับลงเหลือ หดตัว 5.5% และหดตัว 6% ตามลำดับแม้ว่าส่งออกงวด 1 เดือนแรกปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.5% แต่เดือนม.ค.ที่ขยายตัวมาจากส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น หากตัดทองคำออกจะส่งออกติดลบ

ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า ส่งออก(X) ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะกระทบจากทั้ง COVID-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลกทั้งฝั่งยุโรป เอเซีย และอื่นๆ ต้องยกระดับควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดประเทศ, ปิดกั้นพรมแดน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า การขนส่ง ชะลอลง

ขณะที่ประเด็นเรื่องของราคาน้ำมันดิบที่ต่ำ หลุด 30 เหรียญ จะกระทบส่งออก เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันราว 10% ของการส่งออกรวม เช่นเดียวกับฝั่งนำเข้า ที่คาดภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เอกชนชะลการนำเข้าสินค้า สะท้อนได้จาก การบริโภคครัวเรือน คาดหดตัว 1.3% ผลจากภัยแล้งหนักสุดในรอบ 40 ปี

นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้าไทยกระทบการจับจ่ายใช้สอย , การปิดสถานบันเทิง สถานที่ชุมชน ,ประชาชนไม่ออกจากบ้านจากความกังวล COVID-19 และที่สำคัญคือ มาตรการคลังของภาครัฐยังไม่มีมาตรการที่แรงพอจะพยุงเศรษฐกิจ

2.การลงทนภาคเอกชนคาดหดตัว 2.5% จากนักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน หลังจากหลายประเทศที่ปิดประเทศ จากเรื่องของ COVID-19

3.ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดเหลือ 40 เหรียญฯ จากเดิม 60 เหรียญฯ

ขณะที่สมมติฐานอื่น ๆ ยังคงเดิม เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ(G) คาดโต 2.5% และการลงทุนภาครัฐ คาดโต 2% ซี่งยังมองว่ามีความเป็นไปได้ เห็นได้จากงบประมาณปี 63 หลังจากที่ผ่านเดือนมี.ค.63 เริ่มเห็นรัฐเริ่มเร่งเบิกจ่าย แต่ก็เน้นไปที่โครงการลงทุนขนาดเล็กมากกว่า

โดยรวมแล้ว GDP Growth ฝ่ายวิจัยฯคาด GDP Growth หดตัว 1.4% เทียบกับหน่วยงานอื่น เช่นหน่วยงานเอกชนหลายแห่ง คาดอยู่ในช่วงหดตัว 0.3% จนถึงหดตัว 0.8% ขณะที่หน่วยงานของรัฐคาดขยายตัว 1.1-2 % ซึ่งคาดว่าในอนาคตหน่วยงานรัฐจะมีการปรับลงตามแน่นอน