ธปท.คลอด 3 มาตรการรับมือแห่ขายกองตราสารหนี้-หุ้นกู้ผิดนัด

HoonSmart.com>>กระทรวงการคลัง-แบงก์ชาติ-ก.ล.ต.-สมาคมธนาคารไทย-สมาคมบริษัทจัดการลงทุน  แถลงข่าวด่วน งัด 3 มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบตลาดทุน  ป้องกันคนตื่นแห่ขายหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้  และหุ้นกู้ผิดนัดชำระ ย้ำกองทุนตราสารหนี้  หลังจากกนง.เพิ่งมีมติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉิน 0.25% เป็น 0.75% 

วันนี้เวลา 15.00 น.  นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง , นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย , น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานก.ล.ต. , นายปรีดี ดาวฉาย  ประธานสมาคมธนาคารไทย, นายวศิน วณิชย์วรนันต์  นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และนาย กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมกันแถลงข่าว “มาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19 “ ที่สำนักงานก.ล.ต.

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า  การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความกังวลให้แก่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ราคาสินทรัพย์ผันผวนสูง นักลงทุนในหลายประเทศเทขายสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง กระทบสภาพคล่องของตลาดการเงิน ส่งผลให้ตลาดการเงินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ภาครัฐในหลายประเทศจึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินอย่างต่อเนื่อง

แม้ระบบสถาบันการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพดี ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนเข้มแข็งและไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่สภาพคล่องตึงตัวในระบบการเงินโลก และกลไกตลาดการเงิน ที่ทำงานต่างจากสภาวะปกติ ได้เริ่มส่งผลต่อตลาดการเงินไทย

แบงก์ชาติ ได้ช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่า 1  แสนล้านบาท ช่วงวันที่ 13 -20 มีนาคม 2563 ลดและยกเลิกการออกพันธบัตร ธปท. และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่  0.75% ต่อปี  และพร้อมดูแลตลาดพันธบัตรรัฐบาลให้ทำงานได้ตามปกติ ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลผันผวน

สำหรับสถานการณ์ที่ยังมีความผันผวนสูง ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนบางส่วน เร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่งผลให้กองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่ง ต้องเร่งขายตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าปกติ เพราะการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่น ๆ ตามมา จนกระทบต่อการทำงานของกองทุนรวมตราสารหนี้และตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคเอกชน เศรษฐกิจ และประชาชนเป็นวงกว้าง

กระทรวงการคลัง ธปท. และ ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเห็นควรออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายผลต่อไป โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 ด้านดังต่อไปนี้

1.ธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์ ซื้อหน่วยลงทุน กองทุนตราสารหนี้ ที่เป็นกองทุนเปิด ( Daily Fixed income fund ) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี  สามารถนำหน่วยลงทุน มาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจากแบงก์ชาติได้ จนกว่าสถานการณ์ในตลาดเงินปกติ โดยดำเนินการได้ทันที  เบื้องต้นพบว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีสินทรัพย์ดี  มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท

2. ตราสารหนี้ภาคเอกชน  สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)  ตั้งกองทุน 70,000 – 100,000 ล้านบาท  เข้าซื้อหุ้นกู้เอกชนที่ออกใหม่ มีคุณภาพดี แต่ไม่สามารถต่ออายุ ( rollover ) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน ขณะนี้ขอเข้าร่วมแล้ว ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท คาด 1 สัปดาห์ ตั้งกองทุนได้ และหุ้นกู้เอกชน ทยอยครบกำหนดตั้งแต่ไตรมาส 2

3. แบงก์ชาติจะดูแลกลไก ตลาดพันธบัตรรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

น.ส.รื่นวดี เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวยืนยันว่า กองทุนรวมตราสารหนี้  Daily Fixed income มีทั้งหมด 68 กอง ถือสินทรัพย์ดี มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท โดย 60 % ของกองทุน ลงทุนพันธบัตรรัฐบาล และอีก 40 % ลงทุนหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งระดับ A ถึง 80 % ของการลงทุน

นายกอบศักดิ์ กล่าวเสริมว่า กระทรวงการคลัง จะมีมาตรการชุด 2 ดูแลประชาชน ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 24 มี.ค.นี้ โดยให้มั่นใจว่ารัฐบาล จะออกมาตรการที่เหมาะสมและเพียงพอ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา(16-20 มี.ค.) นักลงทุนทั่วโลกแห่เข้าลงทุนในดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้แข็งค่าขึ้น สวนทางราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทรุดลงแรง  ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำและน้ำมัน