บลจ.ไทยพาณิชย์ยันกองตราสารหนี้ลงทุนเสี่ยงต่ำ เปิดซื้อขายปกติไม่ยืดวันจ่ายเงิน

HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์ ยืนยันความมั่นใจบริหารกองทุนตราสารหนี้ท่ามกลางความผันผวน “ไม่ปิดรับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนหรือยืดวันชำระเงินค่าขายคืน” เน้นลงทุนตราสารหนี้มีความผันผวนต่ำ ลงทุนระดับ Investment Grade ควบคุมความเสี่ยงเข้มงวด เข้าเกณฑ์มาตรการรองรับหากนักลงทุนขายหน่วยลงทุนจำนวนมาก

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ที่ทวีความรุนแรงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้สินทรัพย์ทุกประเภททั่วโลกปรับตัวลดลง จากความตื่นตระหนกของนักลงทุนที่ต่างเทขายสินทรัพย์ที่ตนเองถือครอง เพื่อถือครองเงินสดแทนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบนี้ไปด้วย

สำหรับกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) ภายใต้การบริหารของบลจ.ไทยพาณิชย์ ทั้งกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารรัฐตลาดเงิน (SCBTMF) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารรัฐตลาดเงิน พลัส (SCBTMFPLUS) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น (SCBSFF) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (SCBSFFPLUS) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ (SCBFIXEDA) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส (SCBFP) นั้น มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความผันผวนต่ำ

บริหารจัดการกองทุนโดยเน้นการควบคุมความเสี่ยงอย่างเข้มงวด คัดเลือกลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้คุณภาพระดับ Investment Grade ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน ทำให้ทุกกองทุนมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ

อีกทั้งยังมีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกองทุนเสริมสภาพคล่อง เพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ออกมาตรการนี้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

“ด้วยความสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ประกอบกับมาตรการที่เข้มแข็งของภาครัฐ และการบริหารจัดการกองทุนอย่างรอบคอบและระมัดระวังเพื่อประโยชน์สูงสุดของท่านนักลงทุนตลอด 28 ปีที่ผ่านมา ทำให้ บลจ.ไทยพาณิชย์มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการกองทุนในช่วงเวลาที่ผันผวนเช่นนี้ และจะไม่มีการปิดรับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนหรือยืดวันชำระเงินค่าขายคืน และพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ท่านลูกค้าผู้ลงทุนทุกท่านอย่างเต็มที่” นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าว

ในส่วนมาตรการของ ธปท.ที่ประกาศออกมา เป็นการเตรียมพร้อมอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาทเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่สูงมากและน่าจะช่วยนำความมั่นคงทางด้านสภาพคล่องสู่ตลาดและทำให้ราคาซื้อขายตราสารหนี้ลดความผันผวนลงอย่างมาก โดย 3 มาตรการที่ ธปท. ได้กำหนดมีดังนี้

มาตรการที่ 1 ธปท.จะจัดตั้งกลไกพิเศษผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพดี และสามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นหลักประกัน (Repurchase Agreement) เพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท. ได้ โดยกองทุนตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีประเภทนี้มีมูลค่ารวมกันทั้งหมดกว่า 1 ล้านล้านบาท

มาตรการที่ 2 ธปท. จะช่วยเหลือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบกำหนดและต้องการต่ออายุ (Rollover) โดยจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง ประกอบด้วยสมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน บริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ และกบข. เป็นผู้จัดตั้งกองทุน โดยจะเข้าซื้อตราสารหนี้เหล่านี้มีมูลค่า 7 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท โดยในสภาวะที่ไม่ปกตินี้ ถ้าบริษัทเอกชนไม่สามารถ Rollover ต่อได้ กองทุนนี้ก็จะเข้าไปช่วยเติมสภาพคล่องเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้สามารถต่ออายุหุ้นกู้ได้

มาตรการที่ 3 ตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งปกติจะเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ตอนนี้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีความผันผวนมากกว่าสถานการณ์ปกติ ธปท. พร้อมดูแลให้ตลาดพันธบัตรสามารถทำงานได้ตามกลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ ธปท. จะเป็นผู้เข้าไปเพิ่มสภาพคล่องให้