หุ้นดิ่ง 9.12% เซอร์กิตฯใหม่หยุดได้ผล ราคากองทุนตราสารหนี้ดีดกลับ

HoonSmart.com>>”ภากร”แจงเหตุผลหุ้นไทยร่วงกว่า 100 จุดตามเมืองนอก คุยดีกว่าบางประเทศดิ่งกว่า 12% ยันปรับเซอร์กิตเบรกเกอร์เป็น 8% ช่วยไม่ให้ทรุดถึง 10% ตามเกณฑ์เดิม ลั่นเครื่องมือมีประสิทธิภาพ นักลงทุนไม่ต้องห่วงยังมีหลายมาตรการพร้อมรับมือ ยันไม่ปิดการซื้อขาย ส่วนตลาดตราสารหนี้ ดีขึ้น หลังธปท.จับมือองค์กรหลักตลาดทุน สร้างความมั่นใจ เริ่มมีแรงซื้อตราสารหนี้ – ดอกเบี้ยลดลง หนุนราคากองทุนตราสารหนี้ขยับ ส่วนหุ้นแบงก์ดิ่งลงเหวลึกกลัวกำไรหด กลุ่มพาณิชย์ปักหัวลงกระทบล็อกดาวน์ 22 วัน พลังงานทรุดตามราคาน้ำมัน ข่าวดี ดาวโจนส์ล่วงหน้าพลิกเป็นบวกกว่า 300 จุด รับนโยบายอัดคิวอีไม่อั้น

ตามคาด เปิดตลาดวันจันทร์ที่ 23 มี.ค. 2563 ดัชนีหุ้นไทยดิ่งลงแรงตามตลาดต่างประเทศ และในช่วงบ่ายต้องประกาศใช้ circuit breaker ตามเกณฑ์ใหม่ หลังจากดัชนีร่วงแตะ 8% พักการซื้อขาย 30 นาที นับเป็นการใช้ circuit breaker ครั้งที่สามในรอบเดือนมี.ค. และยังคงปรับตัวลงต่อ ดัชนีปิดที่ระดับ 1,024.46 จุด -102.78 จุด หรือ -9.12% มูลค่าการซื้อขาย 59,677.79 ล้านบาท รายย่อยซื้อกลุ่มเดียว 6,844.13 ล้านบาท ต่างชาติทิ้ง 4,235 ล้านบาท รองลงมาบัญชีบล.ขาย 1,344  ล้านบาท สถาบันขาย 1,263  ล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ  จนมาถึงเวลา 15.25 น. ที่ใช้การหยุดซื้อขายชั่วคราว(Circuit Breaker) และดัชนีปิดลดลง 9.2% ไม่ได้ลดลงถึง 10% เหมือนเกณฑ์เดิม นับเป็นข่าวดีที่ Circuit Breaker มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้เป็นตลาดเดียวที่ปรับลดลง ยังมีตลาดหุ้นในเอเชีย กับยุโรป ที่ลงถึง 4-5% บางประเทศเกิน 12% แนะนำนักลงทุนติดตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นทวีปอเมริกาเหนือในคืนนี้

ทั้งนี้ปัจจัยที่เข้ามากระทบหุ้นได้แก่ การที่กรุงเทพฯมีการปิดเมือง ปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ทำให้ดัชนีของหุ้นกลุ่มนี้ลดลงประมาณ 14% ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอีกประมาณ 10% ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีปรับลงมา 7% กลุ่มท่องเที่ยวลดลงกระทบจากหุ้น AOT ปรับลด 12.09% และแบงก์พาณิชย์ต่างๆก็ปรับลดลงมา แต่ในบางอุตสาหกรรมก็ลงน้อยมาก เช่น กลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม กลุ่มการแพทย์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มประกันภัย ดังนั้น สถานการณ์แต่ละวันขึ้นอยู่กับข่าวที่ออกมา จะเห็นว่าภาครัฐได้ออกมามาตรการต่างๆ และพยายามควบคุมผู้ติดเชื้อ คาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดก็มีปัจจัยบวกคือการที่มีมาตราการออกมาดูแลตลาดตราสารหนี้ จาก 3 หน่วยงานได้แก่ ธปท. ,กระทรวงการคลัง และก.ล.ต.สร้างความมั่นใจได้ว่าตลาดตราสารหนี้มีผู้ดูแลอย่างครบถ้วน

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ทางตลาดหลักทรัพย์มีมาตรการออกมาหลายอย่าง เช่น การลดซิลลิ่งและฟลอร์จาก 30% เหลือ 15% และยังมีอีกหลายมาตรการที่กำลังพิจารณาและศึกษาอยู่ พยายามช่วยให้ตลาดฟื้นตัว และให้ข้อมูลข่าวดีที่นักลงทุนจะสามารถเริ่มมองโอกาสลงทุนในอนาคตได้

ส่วนบริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) ตอนนี้คงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้าจดทะเบียน เนื่องจากตลาดหุ้นถูกกระทบจากหลายๆปัจจัย แต่ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นต้องการใช้เงินทุนของบริษัท  ส่วนนโยบายภาษีเพื่อช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อย เป็นสิ่งที่ภาครัฐเป็นผู้พิจารณาต้องรอว่าภาครัฐจะใช้มาตรการใดในการแก้ไขและช่วยเหลือนักลงทุน

“ตลาดหลักทรัพย์จะไม่ปิดการซื้อขายแต่อย่างใด หากตลาดหลักทรัพย์ฯจะปิดก็จะมาจากที่ธนาคารพาณิชย์ปิดทำการเท่านั้น”นายภากรกล่าว

ด้านตลาดตราสารหนี้ที่มีความปั่นปรวนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะการตื่นตระหนกแห่ขายกองทุนตราสารหนี้ เมื่อเห็นราคาร่วงลงแรง ซึ่งการซื้อขายตราสารหนี้ในวันที่ 23 มี.ค. สถานการณ์ดีขึ้นมาก  มีมูลค่าการซื้อขายรวม 136,773 ล้านบาท กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ขายสุทธิ 5,016 ล้านบาท กลุ่มบริษัทประกันภัย ซื้อสุทธิ 542 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,666 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.15% ลดลงจากเมื่อวาน 0.18%  ส่วนหนึ่งได้รับผลจากการที่ กนง. ประชุมนัดพิเศษ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 0.75% ต่อปี  และจากกองทุนขายน้อยลง บางกองทุนเริ่มมีซื้อกลับ  ผลตอบแทนที่ลดลง ทำให้ราคาหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้กลับมาเพิ่มขึ้น