หุ้นตก แต่ทำไมเทรด Put DW ไม่ได้ ?

เกศรินทร์ พาราทิพย์เจริญชัย
ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าสายงานตราสารอนุพันธ์
บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย)

ยังคงอยู่กับความไม่ปกติของสภาวะการณ์ต่างๆ ทั้งในเรื่องการระบาดของโรค Covid-19 และเรื่องความผันผวนของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ทองคำ ที่ยังคงมีความผันผวนอยู่ในระดับสูง ในสัปดาห์นี้ จึงมาตอบ

คำถามนักลงทุน กับคำถามที่ว่า “เวลาหุ้นตก อยากจะลงทุนใน Put DW แต่ทำไมกลับเข้าซื้อไม่ได้ ราคาลอยบ้าง หรือ มี Bid-Offer ไม่ครบตามช่องบ้าง”

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดจากการที่ผู้ออกหรือผู้ดูแลสภาพคล่องทำการลดสภาพคล่องของ DW ลง อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในการบริหารความเสี่ยงบางประการ โดยสำหรับ Put DW มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1) ข้อจำกัดในการขายชอร์ตหุ้นอ้างอิงเพื่อบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ปรับเกณฑ์การขายชอร์ตมาเป็น up tick rule หรือขายชอร์ตได้ที่ราคาสูงกว่าราคา Last ในกระดาน และรวมทั้งภาวะที่นักลงทุนเริ่มมีความกลัวสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ และต้องการถือเงินสดเอาไว้ ซึ่งทำให้มีการขายหุ้นออกไปก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ข้อจำกัดในการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ยังส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกในการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ ทำให้จำนวนหุ้นที่ให้ยืมในตลาดมีจำนวนลดลงตามไปด้วย 2) Volatility หรือความผันผวนของการซื้อขายหุ้นในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้จำนวน DW ที่ขายได้ กับจำนวนหุ้นที่ต้องใช้ในการบริหารความเสี่ยงนั้นไม่สมดุลกัน ในกรณีนี้ หากเป็นการซื้อขายวอร์แรนต์ในต่างประเทศ จะมีการปรับค่าความผันผวนให้สอดคล้องกับตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาและตารางราคาของวอร์แรนต์เปลี่ยนแปลงไป (ในบางที่อาจเรียกการปรับนี้ว่า การ Buy Vol – Sell Vol หรือการซื้อขายค่าความผันผวนนั่นเอง หากตลาดมีแนวโน้มที่จะมีความผันผวนสูงขึ้น ตราสารอนุพันธ์จะมีการปรับค่าความผันผวนนั้นให้สอดคล้องกันตามไปด้วย) แต่ในบ้านเรา นักลงทุนไทยยังเคยชินกับการเทรด DW ที่มีค่าความผันผวนคงที่ มีตารางราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผู้ออกหรือผู้ดูแลสภาพคล่อง จึงมีความจำเป็นต้องลดการขาย หรือ ลดสภาพคล่องของ DW รุ่นนั้นๆ เพื่อส่งสัญญาณให้นักลงทุนไปเลือกเทรด DW รุ่นอื่น หรือ ทำการออกรุ่นใหม่ที่มีค่าความผันผวนสอดคล้องกับตลาดมากขึ้น

เมื่อทำความเข้าใจมุมมองของผู้ออกและผู้ดูแลสภาพคล่องเช่นนี้แล้ว ก็จะทำให้นักลงทุนเข้าใจผลิตภัณฑ์มากขึ้น และเป็นการเน้นย้ำว่าไม่ควรยึดติดกับ DW รุ่นใดรุ่นหนึ่ง หรือ ค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่ควรเลือก DW ให้เหมาะกับการลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน


กลยุทธ์การเทรด DW

เลือก DW ที่มี Sensitivity ใกล้เคียง 1 เพื่อให้สามารถเทรดเข้าง่ายออกง่ายตามหุ้นอ้างอิงที่เทรดผันผวนในช่วงนี้ แต่หากต้องการถือลุ้นการปรับตัวขึ้นลงของหุ้นอ้างอิงในกรอบใหญ่ อาจเลือก DW ที่มี Sensitivity ในช่วง 0.3-0.5 ได้ (ใช้หุ้นแม่ 2-3 ช่องในการยก DW) เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากหุ้นเคลื่อนไหวในทิศตรงข้ามกับที่คาดการณ์ ทั้งนี้ สำหรับ Put DW อาจเลือกเฉพาะรุ่นที่มีสภาพคล่องพอเพียง และศึกษารายละเอียดการทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องของผู้ออกรายนั้นๆประกอบการลงทุนด้วย

หากนักลงทุนต้องการปรึกษาการลงทุนใน DW ไม่ว่าค่ายไหน สามารถขอรับคำปรึกษาจากทีมงาน DW27 ได้ที่ 02 088 9933 ตามเวลาทำการค่ะ

คำเตือน: DW เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราทด (Gearing) หมายความว่า นักลงทุนมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่า หรือ ขาดทุนมากกว่าการลงทุนในหุ้นอ้างอิงโดยตรง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลของ DW ความเสี่ยง หรือ การดูแลสภาพคล่องที่เกี่ยวข้องประกอบการลงทุน หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการลงทุน