ความจริงความคิด : ตกงานเพราะ Covid ประกันสังคมช่วย

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

วิกฤติ Covid19 วันนี้คงไม่มีคนถามกันนะว่ารุนแรงมั๊ย กระทบชีวิตพวกเรามั๊ย เพราะจำนวนตัวเลขคนป่วย คนเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกๆวัน กับกฎหมายที่ภาครัฐที่ประกาศออกมาอย่างเช่น การประกาศปิดสถานที่เสี่ยง “โควิด-19” ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ แทบทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ตลาดนัด สนามกีฬา รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ก็ต้องยกเลิกตั้งแต่ 22 มี.ค. 63 และล่าสุดกทม.ขยายเวลาถึง 30 เม.ย.63 ระยะเวลา 40 วัน ก็ส่งผลกระทบกับพนักงาน ลูกจ้าง คนทำอาชีพอิสระ จำนวนมากตกอยู่ในสถานะ “คนว่างงาน” ต้องขาดรายได้ไป

เมื่อตกงาน ขาดรายได้ สวัสดิการที่พวกเราในฐานะลูกจ้างต้องนึกถึงอันดับแรกเลย ก็คือ เงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (คือพวกผู้ประกันตนในรูปแบบบริษัทที่ลูกจ้างกับนายจ้างร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคม) จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (จะถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา อย่างไหนก็ได้) โดยต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี ดังนี้ เช่น ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง, ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร, ฯลฯ

และต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิในเบื้องต้น หากขึ้นทะเบียนเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง แปลว่าถ้ามาขึ้นทะเบียนว่างงานจากการลาออกที่สำนักงานจัดหางานวันที่ 30 นับตั้งแต่วันที่มีผลเป็นการออกจากงานพอดี เงินชดเชยจะได้ครบ 90 วัน แต่ถ้ามาวันที่ 31 เงินไม่ได้หายไป 1 วันนะแต่จะหายไป 31 วัน คงเหลือรับเงินชดเชย 59 วัน ยิ่งถ้าไปช้าเท่าไหร่ จำนวนวันเงินที่จะได้เงินชดเชยยิ่งหายไปมากเท่านั้น และหากขึ้นทะเบียนเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว ก็จะหมดสิทธิรับเงินชดเชยกรณีว่างงานเลย เช่น ถ้าลาออกงานแล้วไปขึ้นทะเบียนตอนเกิน 90 วันไปแล้ว ก็จะไม่ได้เงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมเลย

เงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมจะให้ใน 2 กรณีแตกต่างกัน คือ กรณีถูกเลิกจ้าง กับ กรณีลาออก โดยกรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยมากกว่ากรณีลาออก คงเพราะประกันสังคมมองว่าคนที่ลาออกเองน่าจะเดือดร้อนน้อยกว่าคนถูกเลิกจ้าง

กรณีถูกเลิกจ้างหรือนายจ้างเลิกกิจการ

ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกจ้างมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท

แต่เนื่องจากวิกฤติ Covid19 ภาครัฐจึงมีมาตรการปรับเพิ่มเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างหรือนายจ้างเลิกกิจการจากปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นปีละไม่เกิน 200 วัน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นมาตรการชั่วคราวระยะเวลา 2 ปี (อยู่ระหว่างการแก้กฎกระทรวง

กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกจ้างมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

แต่เนื่องจากวิกฤติ Covid19 ภาครัฐจึงมีมาตรการปรับเพิ่มเงินชดเชยกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลาจากปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นปีละไม่เกิน 90 วันเช่นเดิม แต่ในอัตราร้อยละ 45 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นมาตรการชั่วคราวระยะเวลา 2 ปีเช่นกัน (อยู่ระหว่างการแก้กฎกระทรวง

นอกจากนี้เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (กรณีออกจากงาน) ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต) รู้เผื่อเอาไว้ เกิดเป็นอะไรช่วงตกงาน ชีวิตก็จะไม่เลวร้ายเกินไป

หมายเหตุ : การคำนวนวันขึ้นทะเบียนให้นับเป็นวันนะไม่ใช่นับเป็นเดือน ถ้าออกวันที่ 21 นับวันที่ 21 เป็น 1 เลยแล้ว ดูดีๆ อย่าให้เกิน 30 วัน เพราะบางเดือนมันมี 31 วัน หลายคนเสียสิทธิประโยชน์เพราะนับเป็นเดือนมาแล้ว

นอกจากนี้เพราะวิกฤติ Covid19 ประกันสังคมจึงเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยรายได้กรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วยเหตุสุดวิสัยจากวิกฤติ Covid19 ดังนี้

• ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ในกรณีดังต่อไปนี้ เช่น

– โดนกักตัวให้อยู่ในที่พักเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่ได้รับค่าจ้าง ประกันสังคมจะจ่าย 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน (อยู่ระหว่างการแก้กฎกระทรวง) แต่ถ้ายังได้รับค่าจ้างอยู่ ประกันสังคมก็ไม่จ่ายครับ
– หน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างเป็นพนักงานแบบไม่ได้ทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง (no work no pay) ประกันสังคมก็จะจ่าย 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน (อยู่ระหว่างการแก้กฎกระทรวง)

• และถ้าลูกจ้างต้องหยุดงานเพราะป่วยจากติดเชื่อ Covid19 ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 32,57 นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วันทำงานโดยยังได้รับค่าจ้างอยู่ แต่ถ้าลูกจจ้างหยุดงานเพราะป่วยเกิน 30 วันทำงาน ส่วนที่เกิน 30 วันทำงาน ลูกจ้างก็จะได้เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยและหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตาม พรบ. ประกันสังคม มาตรา 64 ที่ว่า

ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ใน อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง สำหรับการที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงานเพื่อการรักษาพยาบาลตามคำสั่งของแพทย์ครั้งหนึ่งไม่เกิน 90 วัน และในระยะเวลา 1 ปีปฏิทินต้องไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่การเจ็บป่วย ด้วยโรคเรื้อรังตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ก็ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เกิน 180 วันแต่ไม่เกิน 365 วัน

ระยะเวลาได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ให้เริ่มนับแต่วันแรกที่ต้อง หยุดงานตามคำสั่งของแพทย์จนถึงวันสุดท้ายที่แพทย์กำหนดให้หยุดงาน หรือจนถึงวันสุดท้ายที่หยุดงาน ในกรณีผู้ประกันตนกลับเข้าทำงานก่อนครบกำหนดเวลา ตามคำสั่งของแพทย์แต่ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดในวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในระหว่างหยุดงานเพื่อการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือมีสิทธิตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แล้วแต่กรณี ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามวรรคหนึ่งจนกว่าสิทธิได้รับเงินค่าจ้างนั้นได้สิ้นสุดลงจึงจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนดังกล่าวเท่าระยะเวลาที่คงเหลือ และถ้าเงินค่าจ้างที่ได้รับจากนายจ้างในกรณีใดน้อยกว่าเงินทดแทนการขาดรายได้จากกองทุน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนในส่วนที่ขาดด้วย