สถานการณ์กองทุนรวมตราสารหนี้ไทย


โดย..มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)

 
 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นที่พูดถึงกันค่อนข้างมาก ทางมอร์นิ่งสตาร์จึงได้สรุปสาระสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาให้ติดตามกันค่ะ

ปัจจุบันกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เปิดขายให้นักลงทุนทั่วไปในตลาดกองทุนรวม (เช่นกลุ่ม Short Term Bond หรือ Mid/Long Term Bond) จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีหรือที่เรามักเรียกกันว่า investment grade หรือระดับน่าลงทุน คือระดับ BBB หรือสูงกว่า นั่นหมายความว่ามีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งนักลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลตราสารที่กองทุนถืออยู่ได้ในหนังสือชี้ขวนส่วนสรุปของกองทุน โดยจะมีการแจ้งรายละเอียดตราสารอย่างชัดเจนว่าลงทุนในตราสารที่ระดับ credit rating ระดับใด ที่สัดส่วนเท่าไหร่ของกองทุน ซึ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ขนาดใหญ่หลายกองทุน มักมีการถือตราสารหนี้ระดับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำหรือที่ระดับสูงกว่า BBB เป็นสัดส่วนหลัก

อย่างไรก็ตามในช่วงสัปดาห์กว่า ๆ ที่ผ่านมามีแรงขายกองทุนตราสารหนี้ออกมาค่อนข้างมาก ในกลุ่ม Short Term Bond มียอดเงินไหลออกสุทธิช่วง 12-20 มีนาคม ประมาณ -8.9 หมื่นล้านบาท และกลุ่ม Mid/Long Term Bond มีเงินไหลออกสุทธิเกือบ -5 หมื่นล้านบาท รวม 2 กลุ่มเกือบ -1.4 แสนล้านบาท หากดูไปที่สถานการณ์ก่อนหน้านี้จะพบว่ามีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมากในระดับมากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท (ที่มา: สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย) ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคมในขณะที่ทั้งเดือนกุมภาพันธ์ขายสุทธิ 2.2 หมื่นล้านบาท และหลังจากนั้นก็มีเม็ดเงินขายตราสารหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องประมาณวันละ 5-6 พันล้านบาท

จากแรงเทขายนี่เองส่งผลกดดันราคาตราสารให้ต่ำลง มูลค่าหน่วยกองทุนรวมจึงลดต่ำลงมาด้วย จึงทำให้เริ่มมีความตื่นตระหนก และเกิดแรงขายกองทุนรวมตราสารหนี้นับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมเป็นต้นมา โดยในช่วงวันที่ 16 มีนาคมทั้งกลุ่มกองทุน Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond มีเงินไหลออกสุทธิอย่างมีนัยสำคัญในหลาย ๆ กองทุน หรือรวม -1.9 หมื่นล้านบาท จากสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ที่ค่อนข้างผันผวน

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้มีการเข้าทำธุรกรรมเพื่อเสริมสภาพคล่องโดยการเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงวันที่ 13-19 มีนาคมรวมกว่า 1 แสนล้านบาท และออกมาตรการเพิ่มเติมซึ่งได้มีการแถลงในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา 3 มาตรการคือ

1 สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ จะมีเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมตราสารหนี้ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวม โดยธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ โดยการเข้าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวนั้นจะเป็นหน่วยของกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดี

2 ในด้านตราสารหนี้ภาคเอกชน มีการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องวงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมกันของ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุน หรือเป็นการช่วยฝั่งธุรกิจให้สามารถระดมทุนต่อได้หากตลาดมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ

3 สำหรับตราสารหนี้ภาครัฐ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงดูแลให้ตลาดตราสารหนี้ภาครัฐมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ โดยมีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่องจากที่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้

จาก 3 มาตรการนี้จะเห็นได้ว่าเป็นมาตรการที่เสริมสภาพคล่อง 3 ด้านคือผู้ซื้อขายในตลาด ผู้ออกตราสาร และด้านตราสารภาครัฐ ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ได้กล่าวในตอนต้นคือการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้จะเป็นการลงทุนในตราสารระดับ investment grade ซึ่งเป็นตราสารคุณภาพดี ประกอบกับการลงทุนในกองทุนรวมนั้นมีการบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ จึงทำให้กองทุนประเภทนี้จัดอยู่ในประเภทกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลการลงทุนอย่างละเอียดเช่น นโยบายการลงทุน ลักษณะตราสารที่ลงทุน ปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและนำไปประกอบการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลก่อนการลงทุนทุกครั้งเพื่อบริหารพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเอง

ที่มา : https://www.morningstarthailand.com