กลุ่มปตท. เร่งทำแผนสู้โควิด รับมือยอดขายน้ำมันลดฮวบ

HoonSmart.com>>ปตท.สั่งบริษัททั้งกลุ่มส่งแผนรับมือโควิดใน 1 เดือน เบื้องต้นคุมรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ปรับสัดส่วนการกลั่นเพิ่มดีเซล หลังจากเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบรุนแรง กดดันความต้องการใช้น้ำมันทรุด 25-30 ล้านบาร์เรล/วัน ยอมรับกลุ่มได้รับผลกระทบหนักไตรมาส 1 คาดสถานการณ์ดีขึ้นปลายไตรมาส 2 หนุนราคาน้ำมันเคลื่อนไหว 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใน 3-6 เดือนข้างหน้า ยันเดินหน้าลงทุนระยะยาวตามแผน 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.ได้มอบหมายให้บริษัทในกลุ่มทุกแห่ง จัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เร็วขึ้น โดยให้เสนอแผนกลับมาภายใน 1 เดือน จากเดิมที่จะมีการทบทวนแผนในช่วงกลางปี ซึ่งเบื้องต้นได้ให้ตัดงบค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ไม่มีการลดเงินเดือนหรือลดพนักงานแต่อย่างใด

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ยังได้ปรับสัดส่วนการกลั่นน้ำมัน หลังจากที่น้ำมันอากาศยาน (JET) มียอดการใช้ลดลงจากสถานการณ์การบินเชิงพาณิชย์ที่หยุดลงทั่วโลก แต่ก็ยังมีการบินเชิงความมั่นคงและมนุษยธรรมอยู่ โดยหันมาเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันในกลุ่มดีเซลทดแทน เนื่องจากยังมีการใช้น้ำมันในภาคการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค แม้จะมีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ก็ตาม ทำให้ยอดขายน้ำมันดีเซลไม่ได้ถูกกระทบมากนัก ขณะที่กลุ่มเบนซินมียอดใช้ลดลงบ้าง ปัจจุบันโรงกลั่นของกลุ่มปตท.มีกำลังกลั่น ดีเซลประมาณ 35-40% กลุ่มเบนซิน 15-20% และน้ำมันอากาศยาน 12-15%

ส่วนงบลงทุนระยะยาวยังเป็นไปตามแผนงานเดิม เช่น โครงการพลังงานสะอาด ของบริษัทไทยออยล์ (TOP) โครงการ Ultra Clean Fuel Project (UCF) รองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ของ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานที่มาบตาพุด ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เป็นต้น

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การใช้น้ำมันดิบตลาดโลกลดลง 25-30 ล้านบาร์เรล/วัน เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง และสงครามราคาน้ำมัน กดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำมาก 20-30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งผู้ผลิตหลายรายไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เพราะต้นทุนสูงกว่าราคาจำหน่าย จึงทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร ซึ่งรวมถึงรัสเซีย (โอเปกพลัส) และสหรัฐหันหน้ามาเจรจากันในวันนี้ (9 เม.ย.2563 ) เพื่อลดกำลังการผลิตน้ำมัน

“ธุรกิจในกลุ่มปตท.ได้รับผลกระทบหนักในช่วงไตรมาส 1 แต่คาดว่าสถานการณ์โควิดน่าจะดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 หลังจากนั้นเชื่อว่าเศรษฐกิจในเอเชียจะพยุงเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันจีนเริ่มกลับมาเปิดเมืองเดินหน้าผลิตสินค้า เริ่มสต็อกน้ำมัน ทำให้ราคาปิโตรเคมีเริ่มขยับขึ้น รัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งไทย อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าใน 3-6 เดือนข้างหน้าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในระดับ 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงมาอยู่ที่ 24 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยต้องจับตาดูการประชุมโอเปกพลัสว่าจะมีข้อตกลงปรับลดกำลังผลิตเท่าใด” นายชาญศิลป์ กล่าว

สำหรับการจัดตั้งบริษัท PTT International Trading USA Inc. (PTTT USA) ในสหรัฐ โดย ปตท.ถือหุ้นทั้งหมดด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 5,000 เหรียญสหรัฐนั้น เพื่อเป็นสำนักงานตัวแทนในสหรัฐ ใช้ในการติดต่อการค้า เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐนับเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ ของโลก ขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ LNG นำเข้าเพิ่มขึ้น และนำเข้าน้ำมันถึง 80%  การมีสำนักงานตัวแทนก็จะช่วยให้สามารถติดต่อการค้าได้ทันท่วงที เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และขยายเครือข่ายการค้าให้ครอบคลุมทั่วโลก  จะเป็นส่วนหนึ่งการสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม และ สนับสนุนการทำธุรกรรมของกลุ่ม ปตท. และบริษัทในเครือ

ปัจจุบัน ปตท.มี การจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ในสิงคโปร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ,อังกฤษ และมีสำนักงานตัวแทน ณ.เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน และ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ก่อนหน้านี้ บล.โนมูระ พัฒนสิน วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบปรับฐาน ตอบรับ EIA ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI สู่ 29.34 เหรียญ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent สู่ 33.04 เหรียญ/บาร์เรล ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค. 23% และ 24% ตามลำดับ ขณะที่คาดการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐจะอยู่ที่ 11.76 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลง 9.5% จากคาดการณ์ในเดือนมี.ค. ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้

ขณะที่ประเด็นสำคัญคือการประชุม โอเปกพลัส มีแนวโน้มที่ซาอุและรัสเซียจะตกลงกันได้ แต่ขนาดกำลังการผลิตที่จะปรับลด จะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก

ด้านการซื้อขายหุ้นกลุ่มปตท. วันที่ 9 เม.ย. ราคาผันผวนมากตามภาวะตลาดโดยรวมที่ดัชนีพุ่งแรงกว่า 30 จุด ก่อนที่ดิ่งลงมาติดลบในช่วงปลายตลาด   เช่น PTT ระหว่างวันขึ้นไปสูงสุด 37.25 บาท แต่ปลายตลาดลงไปต่ำสุดแตะ 35 บาท ก่อนปิดที่ 35.75 บาท -0.25 บาท  เช่นเดียวกับ PTTEP ปิดที่ 79.75 บาท ร่วง 3 บาทหรือ 3.63% จากภาคเช้าขึ้นไปสูงสุดถึง 85.50 บาท และ TOP ปิดที่ 35.50 บาท -1 บาท จากเปิดกระโดดที่ 37.75 บาท เพราะนักลงทุนคาดว่าการประชุมโอเปกพลัสครั้งนี้ คงไม่มีข่าวบวกใหม่ๆออกมา หลังจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นรับข่าวดีล่วงหน้ามามากแล้ว