แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยกู้ 0.40% นอนแบงก์รอซอฟท์โลนอัดฉีด

HoonSmart.com>> ธนาคารพาณิชย์รับลูกธปท. เร็วทันใจ กดดอกเบี้ยเงินกู้ลงพรวดเดียว 0.40% ดีเดย์ 10 เม.ย. ช่วยลดภาระต้นทุนลูกค้า คลังเล็งดึงซอฟท์โลน 8 หมื่นล้านบาท จากออมสินปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องนอนแบงก์- ลิสซิ่ง ช่วยพักค่างวดลูกค้าจากพิษโควิด โบรกเกอร์ฟันธง ดอกเบี้ยถูกลงไม่ช่วยอสังหาริมทรัพย์ ความต้องการซื้อไม่ฟื้นกดดันกำไรยาว 1-2 ปี บล. ยูโอบี เคย์เฮียนแนะซื้อ AP-LH-SPALI ฐานทุนแกร่ง-ปันผลตามนัด บล.หยวนต้า เน้นเก็งกำไรระยะสั้น LH-SENA ราคาขึ้นช้ากว่ากลุ่ม ทริสฯเปลี่ยนแนวโน้มเครดิต ชาญอิสระ “ลบ” บริษัทเตรียมเปิดขายหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาทอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.25% NOBLE ขายอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.50%  

ธนาคารพาณิชย์ตอบสนองนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทันที  ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.40% เริ่มมีผลวันที่ 10 เมษายน 2563 อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวแรงจากภาวะชะงักงันในภาคธุรกิจ และเพื่อตอบสนองนโยบายของธปท.ที่ได้ประกาศมาตรการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารจึงประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.40% เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าธนาคารฯโดยเร่งด่วน

ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทแบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดลงเหลือ 5.375% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR)ปรับลดลง เป็น 6.095% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลดลง เป็น 6.345% เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าสินเชื่อรายย่อยมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และช่วยให้ลูกค้าสามารถฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ในที่สุด

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงเท่ากัน 0.40% พบว่า MOR ของธนาคารไทยพาณิชย์มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ ส่วน MLR ลงมาอยู่ที่ 5.375% เท่ากับธนาคารกรุงไทย (KTB)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ประชาชนที่ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนสินเชื่อเช่าซื้อต่างๆได้รับผลกระทบจากโควิด ได้สั่งการให้ธนาคารออมสินกันวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ไว้ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเดิมที่อนุมัติไว้ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ปล่อยให้กับผู้ประกอบการนอนแบงก์ ผู้ประกอบการสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ ลิสซิ่ง เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนต้นทุนต่ำ สามารถไปใช้ช่วยดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถหยุดพักชำระผ่อนค่างวดและดอกเบี้ยได้

สำหรับเงื่อนไขซอฟท์โลนยังเป็นเงื่อนไขเดิม คือ ธนาคารออมสินปล่อยให้กับผู้ประกอบการต่างๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% และผู้ประกอบการนำไปปล่อยกู้ต่อให้ลูกค้าในอัตราไม่เกิน 2% ระยะเวลา 2 ปี โดยธนาคารออมสินจะไปพิจารณาหลักเกณฑ์ และกำหนดสัดส่วนวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการว่าจะแบ่งแต่ละประเภทสินเชื่ออย่างไร

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงถึง 0.40 %  นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่าไม่ได้ช่วยให้ความต้องการซื้อของภาคอสังหาริมทรัพย์กลับมา จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผลประกอบการของอสังหาฯในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จะไม่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะเดียวกันกลุ่มอสังหาฯ เป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างทุนใหญ่พอสมควร มีการกู้ยืมเงินระยะยาว รวมถึงการออกตราสารหนี้ จากมาตรการของธปท.ที่ช่วยเหลือในการต่ออายุหุ้นกู้ (Rollover) ที่หมดอายุ สำหรับหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในกลุ่มอันดับ Investment grade (BBB-ขึ้นไป) ซึ่งเป็นบจ.ขนาดใหญ่ แต่สำหรับ บจ.ขนาดกลาง-เล็ก ก็ต้องอาศัยกลไกของการให้เงินกู้สริมสภาพคล่อง (Soft Loan) ที่มีวงเงิน 100 กับ 500 ล้านบาท ทำให้บาง บจ.ที่ต้องการวงเงินมากกว่าตามกำหนด อาจจะโดนผลกระทบ

“แนะนำหุ้นอสังหาฯขนาดใหญ่ AP LH และSPALI เนื่องจากมีฐานเงินทุนแข็งแกร่ง และจ่ายปันผลตามกำหนด มีโครงการในมือที่มีศักยภาพ รักษายอดโอนให้ตามเป้า แต่ผลประกอบการปี 2563 จะทรงตัว จากความต้องการซื้อที่ชะลอตัว

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นกลุ่มอสังหาฯบวกขึ้นแรง จากการที่นักลงทุนคลายความกังวล เรื่องการที่บจ.จะไม่สามารถต่ออายุหุ้นกู้ (Rollover) ที่จะครบกำหนดในระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ แต่ยังไม่แนะนำการลงทุนในระยะยาว ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.40% แต่ความต้องการซื้อยังอสังหาฯยังไม่กลับมา

นักลงทุนสามารถซื้อ-ขายในช่วงสั้นๆ หุ้น LH และ SENA เนื่องจากราคาปรับตัวขึ้นช้าเมื่อเทียบกับทั้งกลุ่มอสังหาฯ และเป็นหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี นอกจากนี้แนะนำ AP แต่ราคาปรับขึ้นพอสมควร มองว่าน่าซื้อหากราคาปรับลด จากการมียอดรอรับรู้ (Backlog) จำนวนมาก

ล่าสุด บริษัท ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์(CI) ที่ “BB+” และเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “ลบ” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าประมาณการทั้งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยและธุรกิจโรงแรม รวมถึงภาระหนี้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ขณะเดียวกัน CI เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาท เครดิต BB+ อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เปิดขาย 27-29 เม.ย. 2563 แก่ผู้ลงทุนสถาบันและหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ผู้จัดการจำหน่ายหุ้นกู้ มีบล.โกลเบล็ก บล.กรุงไทย ซีมิโก้ โดยมีบล.โกลเบล็ก เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ส่วนบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อ อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี เปิดจองวันที่ 20-22 เม.ย. 2563 เสนอขายผู้ลงทุนสถาบันและหรือผู้ลงทุนรายใหญ่

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมาดัชนีหุ้นเหวี่ยงขึ้นลงรุนแรง กว่า 41 จุด ก่อนปิดที่ 1,210.48จุด +4.71 จุดมูลค่าการซื้อขายรวม 83,662 ล้านบาท มีแรงซื้อหุ้นอสังหาฯ ขนาดใหญ่ เช่น LH ขึ้นไปสูงสุด 7.85 บาท ก่อนปิดที่ 7.25 บาท +0.25 บาท AP ขึ้นไปแตะ 5 บาทแต่ปิดกลับลดลง0.02 บาทเหลือ 4.68 บาท ขณะที่มีแรงทำกำไรหุ้นขนาดใหญ่ ทั้งกลุ่มพลังงาน และธนาคารพาณิชย์