หั่นเป้ากำไร-ราคาแบงก์ บล.ทรีนีตี้เชียร์ BBL บล.แลนด์ฯ ชอบ TISCO-KK

HoonSmart.com>>นักวิเคราะห์ปรับเป้ากำไร-ราคาหุ้นแบงก์  หลังลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% บล.ทรีนีตี้แนะนำซื้อ SCB เป้าหมาย 98 บาท KBANK 141 บาท แต่ให้โยกไปซื้อ BBL เด่นกว่า บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้เก็งกำไรสั้น TISCO- KKP

บริษัทหลักรัพย์ (บล.) บัวหลวง วิเคราะห์กลุ่มธนาคารหลังจากปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.40% คาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปีนี้ลดลงประมาณ 0.16% เหลือ 3.25% ส่วนกำไรปรับลงอีก 14% เพิ่มเติมจากผลกระทบจากโควิด-19  ทำให้กำไรของกลุ่มในปีนี้หดตัวลง 23% คาดจะกลับมาเติบโตได้ 14% ในปีหน้า หากสถานการณ์โควิดผ่านจุดสุงสุดในเดือนมิ.ย. คาด NIM ลดลงจาก 3.41% เหลือ 3.2%

ธนาคารที่ถูกปรับลดกำไรมากที่สุดคือ ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ( BAY) ประมาณ 20% ส่วนธนาคารกรุงเทพ ( BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถูกปรับลดราว 12-15% สำหรับธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) และ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ไม่ได้ปรับเพราะธนาคารใช้วิธีการปรับลดค่างวดแทน

กลยุทธ์ไม่ได้แนะนำให้ซื้อกลุ่มธนาคารตั้งแต่แรก เพราะคาดการณ์แล้วว่าสุดท้ายจะต้องมีการลดดอกเบี้ย และสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คือ NPL ยังคงคำแนะนำเลี่ยงหุ้นกลุ่มธนาคาร  แต่คงคำแนะนำ ซื้อ TISCO และ BBL เพราะว่าเงินปันผลที่สูง และ มี coverage ratio สูง

บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น SCB ราคาเป้าหมายใหม่ 98 บาท/หุ้น แต่มอง BBL เด่นกว่าทั้งในด้านความเสี่ยงจากคุณภาพหนี้ที่ต่ำกว่า และ Upside ที่สูงกว่า

ในไตรมาส 1/2563 คาด SCB มีกำไร  7,572 ล้านบาท ดีขึ้น 38% จากไตรมาส 4/2562 ที่มีการตั้งสำรองหนี้สูงเป็นพิเศษ แต่อ่อนตัว 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สินเชื่อลดลงเล็กน้อย ถูกกดดันจาก NIM อ่อนตัวลง 0.05% จากการลดดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงราว 2%

ส่วนผลงานทั้งปี ถูกปรับประมาณการกำไรลงอีก 7% จากประมาณการก่อนหน้ามาอยู่ที่ 33,833 ล้านบาท ลดลง 16%จากปีก่อน ปรับลดประมาณการสินเชื่อเหลือหดตัว 2% ขณะที่ปรับค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เพิ่มขึ้นจาก Credit Cost 0.12%  เป็น 0.135% มองว่ามาตรการภาครัฐที่เข้ามาช่วยทั้งเกณฑ์การจัดชั้นหนี้สำหรับการปรับโครงสร้าง และซอฟท์โลนจะช่วยลดความเสี่ยงในกลุ่มลูกค้า SME ขณะที่การลดยอดจ่ายขั้นต่ำสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตจะช่วยลดความเสี่ยงในกลุ่มลูกค้าบัตรเครดิตได้บ้าง

นอกจากนี้ บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” KBANK ราคาเป้าหมายใหม่ 141 บาท/หุ้น แต่แนะนำให้ Switch ไป BBL คาดกำไรไตรมาส 1 7,606 ล้านบาท ลดลง 14%จากไตรมาส 4 และลดลง 24%เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยอาจอ่อนตัวตาม NIM  และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยคาดจะอ่อนตัวลงจากกำไรจากเงินลงทุน ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เพิ่มเล็กน้อย เนื่องจากโรคระบาดเพิ่งกระทบในช่วงปลายไตรมาสเท่านั้น

ทั้งนี้ ปรับประมาณการกำไรปี 2563 ลงอีก 6% เหลือ 32,236 ล้านบาทหรือ ลดลง 17%เทียบปีก่อนหน้า  โดยปรับลดประมาณการสินเชื่อเพิ่มเติมเหลือหดตัว 2% พร้อมปรับ Credit Cost เพิ่มจาก 0.15% เป็น 0.19% เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันมองลูกหนี้ SME จะมีความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ค่อนข้างมาก

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์แนะนำหุ้นธนาคารเท่ากับตลาด ในช่วงสั้น ให้เล่น trading โดยยังคงชอบ TISCO และ KKP เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงจะส่งผลดีกับส่วนต่างดอกเบี้ยของ 2 ธนาคารที่มีสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ และยังมีปันผลสูงสุดโดย TISCO กำลังจะขึ้น XD หุ้นละ 7.75 บาท วันที่ 27 เม.ย.นี้ คิดเป็นอัตราผลตอบแทนถึง 11% และ KKP ขึ้น XD วันนี้ ที่ 2.75 บาท เท่ากับ 6.8% สำหรับ KKP ถ้าราคาลงมามากกว่าปันผลจ่ายก็น่ารับ มองยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการนำหุ้นเข้าตลาดของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ในงวดไตรมาส 1 และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกหรือ PTTOR ที่คาดว่าจะ IPO ในไตรมาส 2 ช่วยดันผลประกอบการปี 2563 ได้

“ภาพรวมธนาคาร แม้ว่าผลกระทบต่อผลประกอบการไตรมาส 1 คงไม่เลวร้ายมากนัก แต่ไตรมาส 2 มีโอกาสที่น่าจะได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากยังไม่มีทีท่าว่าโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร”บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ระบุ