เมื่อเศรษฐกิจจีนกำลังจะเดินต่อ ธุรกิจไทยจะเดินได้ตาม

HoonSmart.com>>หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ในจีนคลี่คลาย และกำลังจะเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติในช่วงต้นเดือนเมษายนพร้อมกับการเฝ้าระวังการกลับมาระบาดซ้ำ เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความเชื่อมโยงกับจีน โดยกำลังซื้อในประเทศจีนจะกลับสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งจะดีต่อผู้ส่งออกสินค้าไปจีน และเมื่อ supply chain ในจีนกลับสู่ภาวะปกติจะเป็นผลดีกับผู้ผลิตในไทยที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าจากจีน

กำลังซื้อในตลาดจีนที่กำลังฟื้นคืนส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จากภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับจีนในปี 2562 มูลค่าการส่งออกสินค้าไปจีน 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 12% ของการส่งออกไปทั่วโลก โดยกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุดได้แก่ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง 3 กลุ่มนี้รวมกันคิดเป็น 40% ของมูลค่าการส่งออกไปจีน (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 สัดส่วนมูลค่าการส่งออกปี 2562 และสินค้าส่งออกหลักจากไทยไปจีน

จีนเป็น supplier หลักของไทยหากเศรษฐกิจจีนเดินหน้า การนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าหลายประเภทที่ต้องหยุดชะงักไปจะกลับมานำเข้าได้มากขึ้น (ภาพที่ 2) ในปี 2562 มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 21% ของมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลก โดยกลุ่มสินค้าที่มีมูลการนำเข้ามากที่สุดได้แก่ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเคมีภัณฑ์ กลุ่มนี้รวมกันคิดเป็น 40% ของมูลค่าการนำเข้าจากจีน (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 สัดส่วนมูลค่าการนำเข้าปี 2562 และสินค้านำเข้าหลักจากจีน

การกลับมาเชื่อมโยง supply chain กับจีนจะเป็นผลดีต่อธุรกิจในภาคการผลิตก่อน ส่วนภาคบริการที่เสี่ยงต่อการระบาดยังคงต้องรอให้ควบคุมสถานการณ์และป้องกันการระบาดซ้ำได้ก่อนทั้งภายในประเทศจีนและทั่วโลก

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ในภาคการผลิตและมีความเชื่อมโยงกับจีนทั้งที่มีรายได้จากจีน และลงทุนในจีน ณ สิ้นปี 2562 มีจำนวน 45 บริษัท  ซึ่งกระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยทั้ง 45 หลักทรัพย์มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 26 มีนาคม 2563 รวม 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) (ตารางที่ 1)

การนำเสนอข้อมูลในครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อแนะนำการลงทุน เพียงต้องการแสดงให้เห็นศักยภาพของบางกลุ่มธุรกิจตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การจัดทำฐานข้อมูลธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ (economic exposure) มีข้อจำกัดเนื่องจากไม่มีข้อกำหนดหรือมาตรฐานของการรายงานข้อมูลการลงทุนทางตรงในต่างประเทศหรือรายได้จากต่างประเทศ บริษัทจดทะเบียนอาจรายงานหรือไม่รายงานข้อมูลดังกล่าวก็ได้หากบริษัทเห็นว่ารายการลงทุน หรือรายได้จากต่างประเทศยังไม่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของกิจการ ดังนั้นข้อมูลตามฐานข้อมูลนี้อาจไม่ครบถ้วนทั้งหมดตามที่เป็นจริง อย่างไรก็ตามผู้รวบรวมข้อมูลได้ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องตามที่ควร ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนอย่างถี่ถ้วน และใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการตัดสินใจลงทุนในช่วงเวลาที่ตลาดยังมีความไม่แน่นอนสูง

ตารางที่ 1 บริษัทจดทะเบียนที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน