SAMART ชี้ COVID-19 โอกาสทองอาชญากรรมไซเบอร์แนะองค์กรระวังภัย

HoonSmart.com>> “สามารถคอร์ปอเรชั่น” ชี้ Covid-19 โอกาสทองของ “อาชญากรรมไซเบอร์” แนะผู้ประกอบการเฝ้าระวัง เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ ชู “ซีเคียวอินโฟ” บริษัย่อยพร้อมดูแล นำเทคโนโลยี AI จาก IBM มาวิเคราะห์รายแรกในไทย

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยถึงเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปัจจุบันว่า “มาตรการ Social Distancing ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตบนโลก Digital มากขึ้น เช่น การ VDO Conference ผ่าน Application Zoom ที่มีผู้ใช้งานเพิ่มจาก 10 ล้านคน เป็นมากกว่า 200 ล้านคนในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงตัวเลขธุรกรรมออนไลน์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ปรับบริการหลายอย่างมาอยู่บน Online Platform เมื่อผู้คนทำกิจกรรมบนโลก Digital มากขึ้น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ จึงเป็นประเด็นที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

ทั้งนี้ ปี 2562 ทั่วโลกลงทุนด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ สูงถึงกว่าแสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนในไทยมีมูลค่าการลงทุนราว 7 พันล้านบาท รวมถึงมีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562” สะท้อนให้เห็นว่า Cyber Security มีความสำคัญอย่างยิ่ง

บริษัท ซีเคียวอินโฟ จำกัด (SECUREiNFO) หนึ่งในกลุ่มบริษัทสามารถ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Cyber Security แบบครบวงจร โดยเป็น Partner กับ IBM Security ผู้ให้บริการ Cyber Security Solution ระดับโลก และมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามทางไซเบอร์ หรือ “Cyber Security Operation Center (CSOC)” ที่ให้บริการเฝ้าระวังภัยให้กับลูกค้าตลอด 24 ชม.ทั้ง 7 วัน (24×7) พร้อมนำเทคโนโลยี AI : Watson for Cyber Security ของ IBM มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเป็นรายแรกในประเทศไทย จึงเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังที่ครอบคลุมขึ้น

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ความสำคัญของศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามทางไซเบอร์ หรือ Cyber Security Operation Center (CSOC) ที่นอกจากช่วยเฝ้าระวังภัยให้กับลูกค้าตลอด 24 ชม.ทั้ง 7 วันแล้ว ยังสร้างความคุ้มค่าสูงสุดให้กับองค์กรที่ใช้บริการ โดยองค์กรไม่ต้องลงทุนในการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังด้าน Cyber Security ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีตลอดเวลา และยังช่วยลดภาระในการสรรหาบุคลากรที่มีความชำนาญด้านนี้โดยตรง ที่สำคัญยังสามารถตรวจสอบ เรียกดูข้อมูลด้านความปลอดภัยได้ทันทีตามความต้องการของผู้ใช้งานด้วย

“ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ องค์กรต่างๆต้องเริ่มหันมากำหนดแนวทางและนโยบายที่เข้มงวดในการดูแลเรื่องความปลอดภัย รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เพราะยุคนี้แค่ตระหนักเรื่องสุขภาพอาจไม่เพียงพอ ต้องเฝ้าระวังสุขภาพองค์กรที่อาจถูกคุกคามจากภัยไซเบอร์ด้วยเช่นกัน””นายวัฒน์ชัย กล่าว