Lombard เชื่อตลาดกลับสู่ภาวะปกติหนุนราคาตราสารหนี้ฟื้น กสิกรฯ ชูกอง K-APB

HoonSmart.com>> Lombard Odier เชื่อธนาคารกลางอัดมาตรการทางการเงิน อัดฉีดสภาพคล่องหนุนเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ดันราคาตราสารหนี้ฟื้น สร้างผลตอบแทนได้เหมือนเดิม ย้ำบริหารกองทุน LO Funds – Asia Value Bond Fund เชิงรุกเฟ้นตราสารหนี้คุณภาพ ด้าน KBank Private Banking แนะจัดพอร์ตลงทุนกองทุน K-APB ประมาณ 3-5%

KBank Private Banking ร่วมกับพันธมิตร Lombard Odier เปิดกลยุทธ์การจัดการกองทุนตราสารหนี้ (K-APB) ในช่วงความท้าทายของความผันผวนของตลาด ในหัวข้อ “How Top Asia Pacific Bond Manager Handle Market Volatilty” พบกับผู้จัดการตราสารหนี้ระดับท็อปของโลก หลังจากตลาดทุนโลกผันผวนอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ส่งผลให้ตลาดหุ้นตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ไม่เว้นแม้แต่กองทุนตราสารหนี้

สำหรับกองทุนเปิดเค เอเชีย แปซิฟิก บอนด์ (K-APB) ซึ่งเป็นกองทุนเปิดที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน LO Funds – Asia Value Bond Fund, (USD) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนโดยจะลงทุนในตราสารหนี้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (รวมประเทศญี่ปุ่น) ที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (Non – Investment Grade) และตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities) ได้

นายดีราช บาจาช Head of Asia Credit, Lombard Odier กล่าวว่า Lombard Odier บริหารจัดการกองทุนแบบเชิงรุก มีการวิเคราะห์ประเมินเครดิตของตราสารทุกตัวที่ลงทุนอย่างละเอียด เน้นเชิงมูลค่าโดยให้ความสำคัญต่อปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ ประเมินว่าตลาดที่ผันผวนในช่วงก่อนหน้านี้เป็นเพียงปัญหาชั่วคราว เมื่อภาวะตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วคาดว่าราคาของตราสารหนี้จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาที่ระดับเดิมได้และสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ดีดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

ด้านดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ให้คำแนะนำในการจัดสรรพอร์ตการลงทุนของ K-APB ว่า ธนาคารยังคงน้ำหนักการลงทุนในระดับ 3% สำหรับพอร์ต Model 1 ประกอบด้วยการลงทุนในพอร์ตหลัก 60% และ พอร์ตเสริม 40%
และ 5% สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นมาหรือ Model 2 ประกอบด้วยการลงทุนในพอร์ตหลัก 50% และ พอร์ตเสริม 50%

“ธนาคารยังคงมั่นใจว่าการลงทุนใน K-APB ยังคงเหมาะสมในภาวะดอกเบี้ยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไปอีกนาน สามารถคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากในระยะยาว และยังเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกองทุน K-APB ยังจะช่วยพอร์ตเสริมในส่วนของการเพิ่มรายได้เป็นอย่างดี”ดร.ตรีพล กล่าว