PTT เน้นสภาพคล่อง สั่งรื้อแผนลงทุนปิโตรฯคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ-ลดกำลังกลั่น

HoonSmart.com>>กลุ่มปตท.เน้นบริหารสภาพคล่อง-เงินสดในมือให้มีความเหมาะสม กำลังทบทวนแผนบริหารงานใกล้ชิด โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ปรับลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ยังไม่จำเป็นระดับหลักพันล้านบาท  รอเสนอเข้าบอร์ด 30 เม.ย.นี้ รับมือโควิดกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกและความต้องการใช้น้ำมันลดฮวบ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. (PTT) เปิดเผยว่า กลุ่มปตท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนการบริหารงานในช่วงเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมุ่งเน้นการบริหารสภาพคล่องและเงินสดที่มีอยู่ในมือให้มีความเหมาะสม พร้อมกับทบทวนแผนการลงทุน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐอเมริกา ของบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) โครงการผลิตอะโรเมติกส์ (Maximum Aromatics Project :MARS) ในไทยของบริษัทไออาร์พีซี (IRPC)

นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับลดค่าใช้จ่ายดำเนินการ (OPEX) ที่ไม่จำเป็นในระดับหลักพันล้านบาท โดยจะรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 30 เม.ย.นี้รวมถึงการทบทวนสถานการณ์และแผนการลงทุนและการบริหารสภาพคล่องของกลุ่มปตท.จะมีขึ้นในทุกเดือนจากเดิมที่จะมีทบทวนทุก 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม โครงการที่ลงทุนไปแล้ว ทั้งโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นการขยายกำลังการกลั่นและเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นของบริษัท ไทยออยล์ (TOP) โครงการโรงงานโอเลฟินส์แห่งใหม่ของ PTTGC โครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งที่ 2 ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โรงแยกอากาศ ของปตท. ก็ยังคงเดินหน้า เป็นต้น

สำหรับโครงการร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะ 3 ยังเดินหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการถมทะเล  ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดเพิ่มเติมกับภาครัฐ  คาดว่าจะได้ข้อยุติในช่วงครึ่งหลังปีนี้ อาจจะทำให้โครงการชะลอการลงทุนออกไปบ้าง

“ตอนนี้การเก็บเงินสดเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พวก OPEX ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ก็ไม่ใช้  การลงทุนใหม่  โครงการใหม่และผลตอบแทนไม่ลงล็อก เหตุการณ์อาจเกิดสวิงกลับไปกลับมาก็ไม่ลงทุน อย่างปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐ ก็ให้ไปทบทวน  ส่วน MARS เลื่อนแน่ “นายชาญศิลป์ กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลกลดลง รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานที่ลดลงไปมาก ทำให้กลุ่มปตท.ต้องกลับมาทบทวนการปรับลดกำลังการกลั่นเฉลี่ย 15-20% ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละโรงกลั่น คาดว่าจะเริ่มในเดือน พ.ค.นี้ รวมถึงการบริหารสต็อกน้ำมันให้มีความเหมาะสมด้วย เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของสถานการณ์ราคาน้ำมัน

ล่าสุด ปตท.ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้เหลือประมาณ  30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่  55-65 เหรียญสหรัฐ ลดลงจากเฉลี่ยปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 63 เหรียญสหรัฐ ส่วนสถานการณ์โควิด-19 น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งจะค่อยๆ ฟื้นกลับมาในไตรมาส 3 หลังบางประเทศเริ่มผ่อนปรนการล็อกดาวน์  น่าจะทำให้ราคาน้ำมันค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง และราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงไปมากขณะนี้ก็เริ่มเห็นผู้ผลิตจาก shale oil และ shale gas ที่มีต้นทุนการผลิตสูงก็ค่อย ๆ หายไปจากตลาด