AOT เคาะมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ-สายการบินตั้งแต่เม.ย.-ธ.ค.63

HoonSmart.com>> บอร์ด AOT เคาะมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ-สายการบิน ยกเว้น-เลื่อน-หั่นค่าเช่าและค่าธรรมเนียม ตั้งแต่ เม.ย.-ธ.ค.63 ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดผลประกอบการ AOT งบปี 63 สิ้นสุดก.ย.และงบปี 64 อ่อนแอ แนะทยอยซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว

บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยมติคณะกรรมการทอท.เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและสายการบินจากการลดลงของเที่ยวบินและผู้โดยสารและสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ

1.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินเกี่ยวกับค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคารและค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือน

1.1 กรณีผู้ประกอบการและสายการบินมีหนังสือขอยกเลิกการประกอบกิจการชั่วคราวหรือทอท. ปิดให้บริการชั่วคราว ทอท.จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคารและค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือนให้กับผู้ประกอบการและสายการบิน มีกำหนดระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2563 หรือวันที่ผู้ประกอบการและสายการบินแจ้งขอกลับเข้ามาประกอบกิจการ แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน

1.2.1 ปรับลดค่าเช่าพื้นที่ในอัตรา 50% ให้แก่ผู้เช่าทุกราย มีกำหนดระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2563
1.2.2 เรียกเก็บค่าบริการการใช้บริการในอาคารในอัตรา 15% ของค่าเช่าพื้นที่ที่ปรับลดลง 50%
1.2.3 ให้ใช้อัตราค่าเช่าพื้นที่และค่าบริการการใช้บริการในอาคารตามบัญชีอัตราค่าภาระการใช้ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการและความสะดวกต่างๆ ในกิจการของทอท. ฉบับปี 2559 สำหรับการคิดส่วนลดตามข้อ 1.2.1 และ 1.2.2

2.มาตรการช่วยเหลือสายการบินในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ

2.1 กรณีสายการบินขอหยุดให้บริการชั่วคราวหรือท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของทอท. ปิดให้บริการชั่วคราว ทอท.จะยกเว้นค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) มีกำหนดระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 ธ.ค.2563 โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องได้รับอนุมัติการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราดังกล่าวจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
2.2 ให้ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charges) ในอัตรา 50% และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) สำหรับสายการบินที่ยังคงมีเส้นทางบิน ในอัตรา 50% สำหรับทุกเส้นทางการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นระยะเวลา 9 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 31 ธ.ค.2563
2.3 กรณีเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ให มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
2.4 สายการบินที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการตลาดด้านการบิน (Incentive Scheme) หรือ มาตรการช่วยเหลือของ ทอท. จะได้รับประโยชน์ในรายการสนับสนุนประเภทเดียวกันได้เพียงรายการเดียวที่สายการบินได้รับประโยชน์สูงสุด

3. ให้สิทธิเลื่อนการชำระค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charges) ให้กับผู้ประกอบการและสายการบินที่ร้องขอ จำนวน 9 งวด ตั้งแต่เดือนเม.ย.-ธ.ค.2563 โดยในแต่ละงวดให้ขยายระยะเวลาการชำระออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือนจากวันครบกำหนดชำระตามระยะเวลาปกติ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการและสายการบินร้องขอ

4. ขยายระยะเวลาการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ ตามมติคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 จากเดิมจำนวน 6 งวด (ก.พ. – ก.ค.2563) เป็น 11 งวด (ก.พ. – ธ.ค.2563) โดยให้ขยายระยะเวลาการชำระของแต่ละงวดออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือนจากวันครบกำหนดชำระตามระยะเวลาปกติ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู ประกอบการและสายการบินร้องขอ

5. ปรับอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่และอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจากการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ภายหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการตามมติคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันพุธที่ 19 ก.พ.2563 (วันที่ 31 มี.ค.2565) ดังนี้

5.1 สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นลายลักษณ์อักษรจาก ทอท. หรือที่มีการลงนามในสัญญาและเข้าพื้นที่ประกอบกิจการก่อนหรือภายในวันที่ 19 ก.พ.2563 หรือ ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีการต่อสัญญากับ ทอท. ในระหว่างที่มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ มีผลอยู่ให้นำอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรืออัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปีก่อนหน้ามีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ (ปี 2562) มาใช้กำหนดเป็นอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรืออัตรา ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ

5.2 สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นลายลักษณ์อักษรจาก ทอท.หรือที่มีการลงนามในสัญญาแล้ว แต่ยังไม่เข้าพื้นที่ประกอบกิจการก่อนหรือภายในวันที่ 19 ก.พ.2563 ให้นำอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรืออัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอในการประมูลหรือการเจรจาตกลงค่าตอบแทน มาใช้กำหนดเป็นอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรืออัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ

5.3 ในการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากผู้ประกอบการตามข้อ 5.1 และ 5.2 สำหรับปีถัดจากปีแรกของรอบสัญญาหลังจากสิ้นสุดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ให้ฝ่ายบริหาร ทอท. พิจารณาเปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสาร ณ ปีนั้นกับปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 (ปี 2562) หากน้อยกว่าให้ใช้อัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรือค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 (ปี 2562) ของแต่ละท่าอากาศยานมาใช้กำหนดเป็นอัตราเรียกเก็บ แต่หากปรากฏว่า จำนวนผู้โดยสาร ณ ปีนั้นมากกว่าปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 (ปี 2562) ให้ใช้อัตราการเติบโตจากจำนวนผู โดยสาร ณ ปีนั้น เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่า MAG เป็นต้นไป

6. มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินตามข้อ 1-5 ใช้กับผู้ประกอบการและสายการบินเฉพาะที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีนิติสัมพันธ์กับ ทอท. อยู่ก่อนแล้วในวันที่คณะกรรมการ ทอท. มีมติ (วันที่ 22 เม.ย.2563)

7. ทอท. สงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินตามข้อ 1 – 5 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ะบาดของโรคโควิด-19

บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า AOT ออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ตามคาด มองราคาหุ้นสูงเกินไป ปรับคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ขาย” ที่ราคาเป้าหมายเดิม 55 บาท ทำให้บริษัทยังไม่น่าสนใจ

นอกจากนี้บล.ทรีนีตี้มีโอกาสปรับลดประมาณการกำไรเพิ่มตามจากมาตรการเยียวยา ขณะที่มาตรการเยียวยาเพิ่มเติมครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทใน 2 หัวข้อหลัก ซึ่งเป็นการลดค่า 1) Landing & Parking Charges 50% 2) ลดค่าเช่าพื้นที่ 50% 3) เรียกเก็บค่าบริการในอัตรา 15% ของค่าเช่าที่ปรับลด เป็นระยะเวลา 9 เดือน นอกจากนี้ยังมีการยกเว้นค่า Landing & Parking Charges ค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการ และค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือนให้กับผู้ประกอบการหรือสายการบินที่ขอยกเลิกการประกอบกิจการชั่วคราวหรือท่าอากาศยานของ AOT ที่ปิดให้บริการชั่วคราว

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์หลัง AOT คาดงวดปี 2563 (สิ้นสุดเดือนก.ย.) จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงรุนแรง -45% เมื่อเทียบปีก่อน และ -53% เมื่อเทียบปีก่อน ตามลำดับ โดยฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอสฯ คาดว่าผลประกอบการปี 2563 (สิ้นสุด ก.ย.2563) และปี 2564 (สิ้นสุดก.ย.2564) จะอ่อนแอทั้งสองปี เพราะความเชื่อมั่นในการบินจะต้องใช้เวลาพอควรกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้ โดยปัจจัยที่จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นได้มาก คือ การค้นพับวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ที่มีประสิทธิผลในคน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 12 เดือน ส่วนยาต้านไวรัสเป็นการรักษา ถึงแม้ว่ามีแล้วก็ยังทำให้มีความกังวลในการเดินทาง ฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอสฯ คาดว่ากำไรสุทธิปี 2563 จะลดลง 72% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

“ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนระยะยาว เราแนะนำทยอยซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เป็นการถอยรับเป็น Step ราคา 55+/- , 50-45 บาทหรือต่ำกว่า โดยให้ราคาพื้นฐานไว้ที่ 65 บาท ส่วนการเก็งกำไรระยะสั้น เน้นซื้อเมื่อราคาหุ้นยืนเหนือ 60 บาท แนวต้าน 63+/- , 65 บาท การอ่อนตัวต่ำกว่า 60 ดูไม่ค่อยดี หลุด 58 บาท Stop Loss”บล.ดีบีเอสฯ แนะนำ

อ่านข่าว

AOT คาดโควิด-19 ฉุดงบปี 63 ผู้โดยสารวูบ 53% เที่ยวบินลด 45%