DTAC กำไร Q1/63 แตะ 1.5 พันลบ. โต 15.7%

HoonSmart.com>> “โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น” เปิดกำไรไตรมาส 1/63 จำนวน 1,501 ล้านบาท เติบโต 15.7% จากงวดปีก่อน กวาดรายได้ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% ชี้ COVID-19 ฉุดยอดเปิดเบอร์ใหม่ ผู้ใช้บริการข้ามแดน หวังสถานการณ์ดีขึ้นหลังไวรัสคลี่คลาย พร้อมปรับเป้าหมายปี 63 ใหม่ เผยกลยุทธ์ช่วงนี้มุ่งบริหารจัดการเงินสด คุมค่าใช้จ่าย ลงทุนอย่างเหมาะสม

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2563 มีกำไรสุทธิ 1,501.44 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.63 บาท เพิ่มขึ้น 15.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,297.24 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.55 บาท และเพิ่มขึ้น 89.1% จากไตรมาสก่อน

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า ก่อนเกิดสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 การดำเนินงานของบริษัทฯ ยังสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยว ลูกค้าใหม่ และบริการข้ามแดนอัตโนมัติในต่างประเทศ

นอกจากนี้ สัญญาณเริ่มต้นของเศรษฐกิจถดถอยกำลังส่งผลต่อการปรับตัวด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าทุกกลุ่ม บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการใช้โอกาสนี้ในการเร่งรัดการพัฒนาช่องทางดิจิทัลทดแทน และยังคงสร้างความแข็งแกร่งทางด้านโครงข่ายการใช้งานรวมทั้งการพัฒนา 5G อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/63 บริษัทฯ มีฐานลูกค้าจำนวน 19.6 ล้านราย ลดลง 1 ล้านรายในไตรมาสนี้ จากการลดลงของจำนวนลูกค้าในระบบเติมเงิน เนื่องมาจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการลดลงของจำนวนผู้ใช้บริการในระบบรายเดือนเนื่องมาจากการปรับปรุงวิธีการรายงานจำนวนผู้ใช้บริการในระบบรายเดือนในไตรมาสนี้

บริษัทฯ มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ARPU) ไตรมาส 1/63 เท่ากับ 251 บาทต่อเดือน ลดลง 2.5% จากไตรมาสก่อนเนื่องจากการปรับปรุงวิธีการรายงาน แต่เพิ่มขึ้น 5.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลูกค้าในระบบรายเดือนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 31.4% ของจำนวนลูกค้ารวม ณ สิ้นไตรมาส 1/63 รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของลูกค้าระบบรายเดือนในไตรมาส 1/63 เท่ากับ 529 บาทต่อเดือน ลดลง 3.2% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของลูกค้าระบบเติมเงินลดลง 5.9% จากไตรมาสก่อน และลดลง 0.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 130 บาทต่อเดือน เนื่องจากการลดลงของรายได้ในระบบเติมเงิน

สำหรับรายได้รวมในไตรมาส 1/63 เท่ากับ 20,075 ล้านบาท ลดลง 6.3% จากไตรมาสก่อน จากการลดลงของรายได้จากการให้บริการและรายได้จากการจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์และชุดเลขหมาย แต่เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานหลัก และค่าเช่าเครือข่าย 2300MHz จาก TOT โดยรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่าไอซี) ในไตรมาส 1/63 ลดลง 1.6% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 2.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากค่าบริการหลักในไตรมาส 1/63 ลดลง 0.9% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ระบบรายเดือนและการเติบโตของรายได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กร

ด้าน EBITDA ปรับตัวดีขึ้น 4.5% จากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 4/62 และปรับตัวดีขึ้น 4.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร กำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1/63 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.5 พันล้านบาท ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับ EBITDA

นายดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน กล่าวว่า รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าไอซีตลอดจนรายได้จากการให้บริการหลัก (รายได้จากการให้บริการเสียงและข้อมูล) ยังคงเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 1/63 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของไตรมาสนี้ รายได้จากระบบเติมเงินลดลง จำนวนฐานลูกค้าใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน รวมถึงรายได้จากระบบรายเดือนลดลง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้รายได้ในไตรมาส 1/63 ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากปัจจัยความกดดันรายได้ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้บริษัทฯ ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการบริหารจัดการเงินลงทุน (CAPEX) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) อย่างสมเหตุสมผลในปีนี้

“แม้ในช่วงระยะเวลาอันใกล้จะมีความท้าทาย แต่เมื่อมองไปข้างหน้า ดีแทคมองเห็นโอกาส ซึ่งรวมถึงการกลับมาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว การลดลงของการย้ายค่ายของลูกค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งแพ็กเกจที่ดีขึ้นและการขายที่คุณภาพไม่ดี โอกาสในการบริหารจัดการเงินชดเชยค่าเครื่องโทรศัพท์ที่เหมาะสมมากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของการใช้งานผ่านช่องทางบริการตนเองและช่องทางดิจิทัล”นายดิลิป กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาว บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเงินสด ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม บริษัทฯ จะให้แนวโน้มใหม่สำหรับปี 2563 หลังจากที่สถานการณ์มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นในระยะกลางที่เคยสื่อสารในวัน Capital Markets Day ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง