ความจริงความคิด : บริหารประกันสังคม ไม่ง่าย

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่มีข่าวจาก สำนักงานประกันสังคมว่า มีเงินพอจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ประมาณ 7-8 แสนรายเท่านั้น ทำให้เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวพร้อมตั้งข้อสงสัยกันมากมายว่าเงินหายไปไหน ทำไมถึงมีจ่ายเพียงแค่ 8 แสนคน ทั้งที่แรงงานที่ลงทะเบียนในประกันสังคมมี 11 ล้านคน ถ้าหากทุกคนเกิดมีปัญหาเหมือนกันหมดจะเอาเงินตรงไหนมาจ่าย?

ขออธิบายนิดนึงครับ กองทุนประกันสังคมเป็นการออมแบบมีพันธะสัญญาแบบหนึ่ง ที่เรียกกันว่าการออมแบบ defined contribution และ defined benefit Defined contribution คือ มีข้อกำหนดร่วมกันระหว่างสมาชิกกับกองทุนประกันสังคม คือ สมาชิกมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม (รวมถึงนายจ้างและรัฐบาลที่ต้องจ่ายเงินสมทบด้วย) โดยตอนนี้ลูกจ้างจ่ายกันอยู่ทุกเดือนที่ 5% ของค่าจ้าง (ฐานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน) ดังนั้นลูกจ้างจะมีเพดานถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 5% หรือ 750 บาทต่อเดือน โดยเงินที่จ่ายจะจ่ายเพื่อสิทธิประโยชน์ 3 อย่าง ได้แก่

• กรณีเจ็บป่วย พิการ เสียชีวิต คลอดบุตร 1.5%
•กรณีสงเคราะห์บุตร ชราภาพ 3%
•กรณีว่างงาน 0.5%

defined benefit คือ กำหนดแน่นอนว่าสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับจากประกันสังคมจะมีอะไรบ้าง และได้รับเท่าไหร่ และได้รับเมื่อไหร่ อย่างเช่น กรณีว่างงาน ก็จะกำหนดชัดเจนว่า ว่างงานจากลาออกเองได้เท่าไหร่ ว่างงานจากเลิกจ้างได้เท่าไหร่ หรือ กรณีชราภาพ ก็จะกำหนดว่ากรณีไหนจะได้บำเหน็จ หรือ ได้บำนาญ และได้เมื่อไหร่ กำหนดชัดเจน ฯลฯ

หากไปดูรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ที่ประกันสังคมให้เทียบกับเงินสมทบที่เราจ่าย จะรู้สึกเลยว่าได้เยอะมากๆ อย่างเช่นกรณีชราภาพเราจ่ายเดือนนึงไม่เกิน 450 บาท (3% ของ 15,000 บาท) แต่ตอนเราได้บำนาญชราภาพ เราได้อย่างต่ำ 20% ของ 15,000 บาท เท่ากับ 3,000 บาททุกเดือนจนกว่าจะตาย และถ้าใครยิ่งมีอายุสมาชิกมากยิ่งได้เยอะ

ถ้ามองจากอายุการทำงานโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 40 ปี เราจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพทั้งหมด 40 ปี *12 เดือน *450 บาท = 216,000 บาท รวมเงินสมทบจากนายจ้างอีก 216,000 บาท เป็น 432,000 บาท ตอนอายุ 60 ปี เราก็น่าจะได้บำนาญชราภาพที่ 50% ของค่าจ้างที่ประมาณ 7,500 บาท/เดือน แล้วยิ่งอายุขัยเรายิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เอาง่ายๆสมมติตายที่อายุ 80 ปี (จริงๆน้อยไปด้วยซ้ำ น่าจะเฉลี่ยตายแถวๆ 90 ปี น่าจะตรงกว่า) เราจะได้บำนาญชราภาพจากประกันสังคม เป็นเงินทั้งหมด 20 ปี * 12 เดือน * 7500 บาท = 1,800,000 บาท เท่ากับ 4.167 เท่าของเงินสมทบ

ถ้ายิ่งตายช้า เรายิ่งได้เงินเยอะ หลายคนอาจเถียงว่า ก็ประกันสังคมเอาเงินเราไปบริหารก่อนตั้ง 40 ปี แถมค่าเงินก็ต่างกัน เงินที่จ่ายตอนสมทบมีค่ามากกว่าเงินบำนาญที่ได้ ก็จริงนะ แต่ถ้าลองคิดดูว่าหากเราเป็นคนบริหารเงินก้อนนี้ โดยรับประกันผลประโยชน์มากขนาดนี้ ถ้าทำไม่ได้ เราจ่ายส่วนที่ขาดเอง เรากล้าทำหรือไม่ แต่เพราะประกันสังคมเป็นโครงการของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงกล้าที่จะบริหาร แต่จะบริหารอย่างไรดี

การบริหารจัดการเงินอะไรก็ตาม ถ้าการันตีผลตอบแทนที่ได้ คนบริหารจัดการจะไม่กล้าเสี่ยง เพราะการบริหารแบบนี้มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง คือ ทำได้ก็ไม่ได้รางวัลอะไร ทำไม่ได้โดนร้องเรียน บางทีถึงขั้นตรวจสอบว่าทุจริตเข้าไปอีก แต่อย่างว่าถ้าลงทุนแบบไม่เสี่ยง ผลตอบแทนก็มักจะน้อย แม้เงินต้นจะไม่ขาดทุน แต่ที่รับปากว่าจะให้นั่นให้นี่ก็จะทำไม่ได้

กลยุทธ์การบริหารที่เหมาะสม ก็คือ การบริหารทรัพย์สินให้เหมาะสมกับภาระหนี้สิน (สิทธิประโยชน์ที่ประกันสังคมรับปาก) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งไม่ง่ายครับ เพราะต้องประเมินทั้งจำนวนเงินขาเข้า เช่น ต้องดูโครงสร้างประชากร แนวโน้มการจ้างงาน รูปแบบการทำงาน อัตราค่าจ้าง ฯลฯ และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายสำหรับสิทธิประโยชน์แต่ละอย่างในแต่ละปี และต้องประเมินอนาคตนานๆอีกด้วย ดังนั้นประกันสังคมจึงต้องแบ่งเงินบริหารจัดการตามสิทธิประโยชน์ที่รับปากไว้

อย่างเช่นปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินรวมกันทั้งสิ้น 2,032,841 ล้านบาท โดยเงินทั้งหมดนี้ถูกแบ่งไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้แก่

• สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงเช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่มีความน่าเชื่อถือ เงินฝาก ฯลฯ 82%
• สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ฯลฯ 18%

ดูแล้ว ก็เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัย คือกระทบเงินต้นน้อย ถ้าดูข้อมูลสถานะการลงทุนกองทุนประกันสังคม ไตรมาสที่ 4 ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 จะพบว่า มีเงินอยู่ 2,095,393 ล้านบาท เมื่อเทียบกับจำนวนเงิน ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563 มีเพียง 2,032,841 ล้านบาท เท่ากับเงินในกองทุนประกันสังคมลดลง 62,552 ล้านบาท (ประมาณ 3%) ถือว่า ok เลย เทียบกับตลาดหุ้นไทยช่วงสิ้นปี 2562 ดัชนีอยู่ที่ 1,580 จุด ส่วนสิ้นเดือน มี.ค. 2563 ดัชนีอยู่ 1,125 จุด เทียบดูแล้วตลาดหุ้นไทยติดลบไปประมาณ 28% และยิ่งในวิกฤติโควิด-19 ลงทุนอะไรก็เจ๊ง เห็นดีมีแต่ทองคำอย่างเดียว

เมื่อประกันสังคมมีเงินเยอะ แล้วก็ไม่ได้ขาดทุนมาก แถมมีพันธบัตรรัฐบาล หุ้นเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือ เงินฝาก ฯลฯ ตั้ง 82% ทำไมถึงบอกมีเงินพอจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ประมาณ 7-8 แสนรายเท่านั้น ผมขอตอบตามความเข้าใจของผมเองอย่างนี้ครับ

1.อย่าลืมนะครับว่าประกันสังคมรับปากใครไว้อย่างไรบ้าง รับปากคนเกษียณต้องจ่ายบำเหน็จ บำนาญให้ รับปากคนป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ รับปากคนมีลูกต้องจ่ายค่าสงเคราะห์บุตรให้ รับปากคนตกงานต้องจ่ายชดเชยให้ ดังนั้นประกันสังคมก็คงไม่สามารถนำเงินที่กันไว้ให้คนกลุ่มหนึ่งมาให้คนอีกกลุ่มหนึ่งได้ อย่างเช่น ไม่สามารถนำเงินที่กันเพื่อจ่ายบำนาญมาจ่ายชดเชยว่างงานได้ เงินที่เห็นเยอะๆ จึงไม่ใช่เงินที่จะถอนมาแจกคนที่ได้รับผลกระทบจาก Covid ทั้งหมด ไม่งั้นเกิดคนที่เขาควรได้บำนาญ แต่ไม่ได้ โวยขึ้นมา ประกันสังคมจะทำยังไง

2.เงินที่ลงทุนอยู่ ถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่ดี ต้องลงทุนระยะยาว บางอย่างมีกำหนดอายุชัดเจน บางอย่างไม่อยู่ในจังหวะที่จะขาย ผมเชื่อนะว่าประกันสังคมมีระบบการจัดการบริหารการลงทุนที่ดี มีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ความสามารถ หลักทรัพย์ที่เลือกลงทุนคงจะเป็นหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพที่ดี อย่างเช่น หุ้นก็คงเป็นหุ้นพื้นฐานดี แต่ในภาวะ Covid อย่างนี้ ของดีก็ราคาตกเหมือนกัน แล้วเงินในประกันสังคมก็เงินเรา เราอยากขายของดี ราคาต่ำๆ หรือเก็บไว้ขายตอนราคาแพงดีกว่ากัน

3.วิกฤติ Covid เป็นวิกฤติที่ไม่มีใครเคยคิดว่าจะเกิดขึ้น การ lock down ประเทศก็ไม่เคยอยู่ในสมอง คนตกงานมีเยอะจนคาดไม่ถึง เป็นเหตุสุดวิสัยที่ประกันสังคมจะเตรียมการจัดการได้ทัน

4.แถมตอนนี้ ภาครัฐมีนโยบายให้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานมากกว่าที่กำหนดเพิ่มไปอีก เช่น ว่างงานจากการลาออกเอง ประกันสังคมให้ 45% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน (เดิมให้ 30% ของค่าจ้าง) ว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมให้ 70% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน (เดิมให้ 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180) และมีกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือเพราะโควิด ประกันสังคมให้ 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วันอีก เงินเท่าเดิม แต่ต้องจ่ายเยอะขึ้น ก็ต้องพอจ่ายคนได้น้อยลง

ที่น่าห่วง ก็คือ ของฟรีไม่มีในโลก ประกันสังคมจะหาเงินจากไหน แถมรัฐบาลยังลดการจ่ายเงินสมทบของลูกจ้างอีกจาก 5% เหลือ 1% แม้จะช่วงสั้นๆแค่มีนาคม – พฤษภาคม 2563 แถมหลังวิกฤติ Covid วิกฤติเศรษฐกิจก็ตามมา คนตกงานมีมากขึ้น ธุรกิจที่ปิดตัวมีมากขึ้น คนเกิดน้อยลง คนแก่มากขึ้น เงินสมทบเข้าประกันสังคมก็คงน้อยลง ประกันสังคมจะบริหารจัดการอย่างไรกับภาระสัญญาที่รับปากไว้