บลจ.ยูโอบีเปิดตัวกองทุนแรกในไทยลงทุนธีม “เทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่”

HoonSmart.com>> บลจ.ยูโอบี มองเทรนด์ “ธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่” แนวโน้มเติบโตต่อเนื่องระยะยาว เปิดตัวกองทุน UEDTECH ลงทุนธีม Education Technology ในธุรกิจที่ผสมผสานการศึกษา (Education) และเทคโนโลยี (Technology) เป็นกองแรกในไทย ผ่านกองทุนหลักต่างประเทศ “Credit Suisse” บริหารจัดการ เปิด IPO ตั้งแต่ 11 – 19 พ.ค.นี้

รัชดา ตั้งหะรัฐ

น.ส.รัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ UOBAM เปิดเผยว่า บลจ. ยูโอบี เห็นโอกาสลงทุนในธุรกิจ Education Technology จึงเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) กองทุนเปิด ยูไนเต็ด เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี ฟันด์ (UEDTECH) ที่เข้าลงทุนในธุรกิจภายใต้ธีม ดังกล่าวเป็นกองทุนแรกในประเทศไทย ในวันที่ 11 – 19 พ.ค.2563 เป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ Credit Suisse (Lux) Edutainment Equity Fund – Class IBP USD (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยมีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่ม Global Technology Companies บริหารพอร์ตการลงทุนให้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ จากการประเมินธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ที่เรียกว่า Education Technology ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างธุรกิจการศึกษา (Education) และเทคโนโลยี (Technology) พบว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจุดเด่นของธุรกิจดังกล่าวคือการนำเสนอระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและดิจิทัลคอนเทนต์ รวมถึงระบบต่างๆ มาปรับใช้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่ได้ดียิ่งขึ้น เช่น สามารถเข้าถึงการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านระบบออนไลน์ สามารถรองรับผู้เรียนจำนวนมากได้พร้อมกัน สามารถโต้ตอบแบบ Interactive ได้ทันที รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบ Simulator มาใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น”

“ขณะที่ระบบการศึกษาในห้องเรียนแบบปัจจุบัน เริ่มไม่ตอบโจทย์การเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ได้แก่ 1. ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการเรียนในสถาบันที่มีคุณภาพสูง โดยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในสหรัฐอเมริกานับจากปี 2521 – 2561 เพิ่มขึ้นถึง 1,225% สูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 634% และ 279% ตามลำดับ 2. อาจารย์ไม่สามารถสอนนักเรียนจำนวนมากได้พร้อมกัน 3. ไม่สามารถให้คำแนะนำแก่นักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างทั่วถึง และ 4. นักเรียนที่เป็นเจเนอเรชั่น Z ชอบความยืดหยุ่นในการเรียน ส่งผลให้การเรียนในรูปแบบ Education Technology ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”น.ส.รัชดา กล่าว

บลจ. ยูโอบี มองว่าการศึกษาที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในปัจจุบัน เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในระยะยาว จากรายงานของ Frost and Sullivan1 คาดว่าการเติบโตของกลุ่ม Global EdTech เฉลี่ยอยู่ที่ 18.3% ต่อปี โดยจะมีขนาดใหญ่ถึง 4 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์ ภายในปี 2565 อีกทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ในปัจจุบัน จะเป็นปัจจัยเร่งความต้องการด้านการศึกษาสมัยใหม่ทางออนไลน์ ทั้งจากสถาบันการศึกษาที่มีความต้องการพัฒนาระบบการเรียนการสอนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ” (ที่มา : Credit Suisse Asset Management, 1Growth Opportunities in the Education Technology Market, Forecast to 2022, Frost and Sullivan)

น.ส.รัชกา กล่าวว่า บลจ. ยูโอบี มีความเห็นเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเป็นรูป U-shaped หลังจากที่การระบาดถึงจุดสูงสุดในสหรัฐในเดือนมิถุนายน จากนั้นจะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ตัวเลขการจ้างงานจะค่อยๆต่ำลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา ปัจจัยสำคัญคือการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รวมไปถึงการเพิ่มความเชื่อมั่นให้มีการดำเนินชีวิตได้ตามปกติได้เร็วมากขึ้นเท่าใด จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นเร็วมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ในภาพรวมภาคการผลิตและภาคบริการจีนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งภาคผลิตและภาคบริการกลับมายืนเหนือระดับ 50 ได้ในเดือนมีนาคม โดย Manufacturing PMI อยู่ที่ระดับ 52.0 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 35.7 คาดว่าจีนจะฟื้นตัวและสร้างโอกาสการลงทุนในระยะยาวได้เร็วกว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับ สหรัฐ และยุโรป สำหรับประเทศไทยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆจากภาครัฐ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ระยะที่สาม มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท รวมเม็ดเงินที่เข้าอัดฉีดรวมในระบบทั้งหมดประมาณ 12% นั้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดการลงทุนเริ่มตอบรับในทางบวก และมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะยาว” (ที่มา : Goldman Sachs and www.investing.com, ณ มี.ค. 2563)

“การเข้าลงทุนในหุ้นขณะนี้ถือเป็นจังหวะดีที่นักลงทุนจะเข้าทะยอยสะสม โดยเฉพาะในกองทุนหุ้นที่ลงทุนในบริษัทที่รายได้หลักมาจากเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในสภาวะปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้นกองทุน UEDTECH จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกในระยะ 2-3 ปีขึ้นไป”น.ส.รัชดา กล่าว

สำหรับกองทุน Credit Suisse (Lux) Edutainment Equity Fund – Class IBP USD มีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 579.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (ณ 31 มีนาคม 2563) มีนโยบายลงทุนในหุ้นภายใต้ธีม Education Technology ทั่วโลก ประกอบด้วย ธุรกิจด้าน Innovative Services หรือบริษัทที่เน้นการใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อให้บริการด้านการศึกษา เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัยออนไลน์ ผู้ให้บริการ e-learning เป็นต้น ธุรกิจด้าน Digital Content ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตเนื้อหาสื่อการสอนออนไลน์และออฟไลน์ สำนักพิมพ์ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ ผู้พัฒนาคอร์สเรียนและผู้ผลิตสื่อดิจิทัล และธุรกิจ Systems and Tools ได้แก่ ผู้ผลิตระบบ Interactive รองรับการโต้ตอบสื่อสาร ระบบ AR/ VR/ AI แพลตฟอร์ม e-learning รวมถึงระบบบริหารจัดการข้อมูลและเนื้อหา

“กองทุนหลักมีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Bottom-up เน้นคัดกรองคุณภาพทุกด้าน ทั้งความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร ความโดดเด่นของสินค้าและบริการ ฐานะการเงิน ศักยภาพเติบโตและความเป็นผู้นำตลาด โดยจะคัดเลือกหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษา ไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อเข้าลงทุนในพอร์ตประมาณ 40 – 60 ตัว เน้นการลงทุนระยะยาว จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนในกองทุนรวมตั้งแต่ 2 – 3 ปีขึ้นไป ขณะที่กองทุน Credit Suisse (Lux) Edutainment Equity Fund – Class IBP USD (กองทุนหลัก) ให้ผลการดำเนินงานย้อนหลังที่โดดเด่น โดยตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (25 ก.ย. 2562) โดยมีผลการดำเนินงานชนะเกณฑ์มาตรฐานถึง 7.1%* และชนะดัชนี MSCI World 8.4%** แม้จะอยู่ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูงก็ตาม (ที่มา Morningstar Direct ณ 4 พ.ค. 2563)”