บจ.กำไรดีเกินคาด Q1/63 ปตท.ขาดทุนแค่ 1,554 ลบ.

HoonSmart.com>>บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีเวลาเหลือเพียง 4 วันเท่านั้นในการแจ้งผลงานไตรมาส 1/2563 ส่วนใหญ่ที่ประกาศออกมาแล้วไม่ได้แย่อย่างที่กังวลกัน แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงแรงก็ตาม โดยครอบครัวปตท. รวม 6 แห่ง ขาดทุนสุทธิ 22,805 ล้านบาท พลิกจากที่มีกำไรสุทธิ 53,737 ล้านบาท

บริษัทปตท. (PTT) ขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาทแย่ลง 105% เพราะธุรกิจปิโตรเคมี-การกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมันถึง 35,695 ล้านบาท ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์กับวัตถุดิบที่ลดลง พร้อมรับมือความท้าทายเศรษฐกิจโลกผันผวน จัดตั้ง PTT Group Vital Center เพื่อวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีมาตรการระยะสั้น ได้แก่ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายผ่านนโยบาย “ลด-ละ-เลื่อน” ซึ่งในไตรมาส 1 กลุ่ม ปตท. สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานประมาณ 3,600 ล้านบาทจากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา

บล.บัวหลวงประเมินบจ.แจ้งผลงานจนถึงวันที่ 8 พ.ค. 2563 พบว่า บจ.โดยรวมมีกำไรดีกว่าคาด 56% ส่วนที่แย่กว่าคาดมีเพียง 20% บริษัทที่ทำได้ดี ส่วนใหญ่เกิดจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ เช่น ธุรกิจสินเชื่อบุคคล จึงมีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการกำไรในปีนี้ รวมถึงธุรกิจไฟฟ้าและค้าปลีก อย่างไรก็ตาม GLOBAL มีกำไรหลักทำนิวไฮไตรมาส 1 และน่าจะเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ ส่วนที่เหลือไม่น่าตื่นเต้นแล้ว จึงแนะนำให้ถือหรือขายออกสลับลงทุนใน COM 7 แทน ซึ่งมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่วน RS แนะนำซื้อ กำไรสูงกว่าคาด และแข็งแกร่งสุด เป็นบริษัทสื่อแห่งเดียวที่จะไม่ขาดทุนในไตรมาส 2

ส่วนธุรกิจที่มีกำไรต่ำ ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบทรุดลงแรง ส่งผลต่อธุรกิจน้ำมันและโรงกลั่น

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกมาต่ำกว่าคาด เช่น AWC แนะนำเพียงถือเพราะนอกจากกำไรต่ำแล้ว ราคาหุ้นรีบาวด์ขึ้นมามากแล้ว น่าจะขายล็อคกำไร และมองไปต่อยาก

ก่อนหน้านี้ ธนาคารพาณิชย์ รวม 10 แห่ง ประกาศกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 44,120 ล้านบาท ลดลง 18.38% ดีกว่าคาด เพราะได้มาตรการช่วยเหลือในการลดการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการฟื้ฟนูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จาก อัตรา 0.46% เหลือเพียง 0.23% ของเงินฝาก และกับการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงเพื่อช่วยเหลือลูกค้า ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากำไรไตรมาส 2 จะแย่ลงมาก และจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ หลังจากรัฐประกาศการล็อกดาวน์ประเทศและธุรกิจ และเริ่มผ่อนคลายในไตรมาส 3 เป็นต้นไป

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือน พ.ค.2563 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว หลังจากปรับตัวลงซบเซาติดต่อกันสามเดือน เพราะนักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน(บจ.)เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ  และการไหลเข้า-ออกของเงินทุน รวมถึงความกังวลหากโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง

ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.63) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”  (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) เพิ่มขึ้น 42% มาอยู่ที่ระดับ 80.40  ส่วนนักลงทุนรายบุคคล บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มสถาบันไทยเพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)  ขณะที่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในโซนซบเซา (Bearish)

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) หมวดที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นในระยะสั้นจะ Sideway อยู่ในทิศทางขาขึ้น และมองว่าตลาดมีความเสี่ยงน้อยลง คาด upside ที่ราว 1,400 จุด แม้ว่าระดับ P/E ไม่ต่ำแล้วก็ตาม  แต่ก็เหมือนประเทศอื่นๆ ด้วยสภาพคล่องล้นทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การจะเข้ามาลงทุนก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้

บล.ไทยพาณิชย์คาดว่า ตลาดหุ้นฟื้นตัว แต่มองกรอบบนถูกจำกัดบริเวณ 1,275-1,285 จุด เนื่องจากสะท้อนปัจจัยบวกเรื่องการคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว และมูลค่าพื้นฐานที่ตึงตัว รวมถึงความเสี่ยงเรื่องการปรับลดประมาณการกำไรของบจ. มองดัชนีต้องพักฐานก่อน กลยุทธ์ ขายลดพอร์ตโดยเฉพาะที่มีต้นทุนแถวดัชนี 1,200 จุดขึ้นไป ส่วนการเก็งกำไรให้เล่นสั้นจบในวัน พอร์ตซื้อถือลงทุนให้ทยอยสะสม เมื่อดัชนีต่ำกว่า 1,200 จุดลงไป

“แนะนำ SCC คาดว่ากําไรจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 หลักๆ เกิดจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ ส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์สูงสุดในรอบ 1 ปี ราคานํ้ามันตํ่าสุดในรอบ 19 ปี และเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 1 ปี จะเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นในระยะสั้น” บล.ไทยพาณิชย์ระบุ