8 โรงแรมขาดทุน พิษล็อกดาวน์ MINT ยับ 1,773 ล้าน หนี้โผล่ 1 แสนลบ.

HoonSmart.com>>ธุรกิจโรงแรมกะอักเลือด เจอพิษล็อกดาวน์ทั่วโลก หลายประเทศห้ามเดินทางเข้าออก ในส่วนของไทยเพิ่งเริ่มใช้ในเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ยังส่งผลกระทบเข้าเต็มเปา เห็นได้จากในไตรมาส 1 /2563 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงแรมขาดทุนถึง 8 แห่ง โดยเฉพาะบริษัทที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศ และนักท่องเที่ยว นำโดยบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) อ่วมแดงเถือก 1,773 ล้านบาท

ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ นักลงทุนจะต้องทำการบ้านหนักยิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน บริษัทที่มีกำไร โดยเฉพาะบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR ) เรือธงธุรกิจโรงแรมของกลุ่มสิงห์ ที่ขาดทุนมาก่อนหน้านี้ จู่ๆ กลับพลิกมีกำไรสุทธิตั้ง 235 ล้านบาท เนื่องจากมีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นบริษัทร่วมทุนเข้ามาถึง 10.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ มากกว่า 330 ล้านบาท อย่าเพิ่งผลีผลามลุย แต่ที่แน่ๆ ภาพรวมธุรกิจโรงแรมยังจะแย่หนักยิ่งขึ้นในไตรมาส 2 แม้มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์โรงแรมในบางจังหวัด แต่กพท.ขยายเวลาห้ามบินเข้าไทย ถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2563 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ดังนั้นนักลงทุนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังหุ้นในกลุ่มนี้ให้ดี…

“วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค” ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์เลวร้ายที่สุด เป็นการตกต่ำทางเศรษฐกิจ (Depression) ไม่ใช่ภาวะถดถอย ส่งสัญญาณว่าผลงานของ MINT จะออกมาแย่มาก แต่คาดไม่ถึงว่าจะขาดทุนหนักกว่า 1,773 ล้านบาท เพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทั้งสามธุรกิจ และยังทำให้สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานมีความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะไมเนอร์ โฮเทลส์ทั่วโลก และไมเนอร์ฟู้ด ในประเทศจีน

MINT มีรายได้หลักจาก 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจโรงแรมและเกี่ยวเนื่อง 2.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และ3.ธุรกิจจัดจำหน่าย ในไตรมาส 1/2563 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 22,421 ล้านบาท ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 28,848 ล้านบาท โดยมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 3,173 ล้านบาท แต่หากไม่รวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16 คงเหลือขาดทุนจำนวน 2,834 ล้านบาท

การลดลงของกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ในอัตราที่เร็วกว่ารายได้ที่ลดลงอย่างรวดเร็วและฉับพลันจากผลกระทบของการระบาดครั้งใหญ่ ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรเป็นลบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การขาดทุน EBITDA ส่วนใหญ่มาจากเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป ซึ่งมีรายได้จากเช่าบริหารที่สูง ทำให้มีความสามารถในการทำกำไรต่ำกว่า การทำกำไรโดยรวม โดยไมเนอร์โฮเทลส์ยังคงมี EBITDA ที่เป็นบวก

ในส่วนของธุรกิจโรงแรม ในไตรมาส 1/2563 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 15,770 ล้านบาท ลดลง 26% จากจำนวน 21,230 ล้านบาท และหากรวมบริการที่เกี่ยวข้องลดลง 24% ถึงแม้ว่าเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ปจะมีผลงานที่แข็งแกร่งจนถึงเดือนก.พ. และโรงแรมในประเทศมัลดีฟส์แข็งแกร่งในเดือนม.ค. แต่การเดินทางระหว่างประเทศที่หยุดชะงัก โดยเฉพาะในเดือนมี.ค. จากผลกระทบโควิด ส่วนรายได้จากการรับจ้างบริหารโรงแรมลดลง 34% ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนแรกบริษัทได้เปิดโรงแรมใหม่ 3 แห่ง

MINT ได้เริ่มทยอยปิดให้บริการโรงแรมตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา ปัจจุบันกว่า 80% ของโรงแรมทั้งหมดได้ปิดให้บริการชั่วคราวหรือเปิดให้บริการที่จำกัด ยกเว้นที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยังคงเปิดดำเนินงานปกติ รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมเดิมทั้งหมดลดลง 26% สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการระบาดของโควิดและการแข็งค่าของสกุลเงินบาท หากไม่รวมผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนลดลง 22%

บริษัทมีโรงแรมลงทุนเองมากถึง 376 แห่ง ไม่รวมโรงแรมและเซอร์วิส สวีทที่รับจ้างบริหารอีก 154 แห่งใน 55 ประเทศ มีห้องพักทั้งสิ้น 76,320 ห้อง ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศจำนวน 71,228 ห้อง คิดเป็นสัดส่วน 93% ครอบคลุมทั่วทวีป เอเชีย โอเชียเนีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา ภายใต้แบรนด์อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์,ทิโวลี, เอ็นเอช คอลเลคชั่น , เอ็นเอช โฮเทลส์, นาว และเอเลวาน่า คอลเลคชั่น ส่วนห้องพักในประเทศไทยมีเพียง 5,092 ห้อง

ธุรกิจร้านอาหาร ยอดขายทุกสาขาลดลง 5.8% บริษัทมีรายรายได้จากการดำเนินงานลดลง 11% กลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยเติบโต ช่วยลดผลกระทบจากยอดขายในประเทศจีนและออสเตรเลีย รวมถึงส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงจากกิจการร่วมค้า มีอัตรากำไร EBITDA จากการจากการดำเนินงานลดลงเป็น 10.6% เทียบกับ17.3%

กลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีของแบรนด์ที่เหมาะสำหรับบริการจัดส่งอาหาร ซึ่งรวมถึงแบรนด์เดอะ พิซซ่าคอมปะนีและเบอร์เกอร์คิง และการรวมสาขาของร้านบอนชอนเข้ามาในเครือ ขณะเดียวกัน รายรับจากการให้สิทธิฟรนไชส์ลดลง 14% ได้สิทธิแฟรนไชส์ของเดอะ พิซซ่าคอมปะนีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเข้ามาช่วย

ทั้งนี้ อัตราการการทำกำไร EBITDA จากการดำเนินงานลดลงเป็น 10.6% เทียบกับ 17.3% เร็วกว่าการลดลงของรายได้ แม้ว่าจะเริ่มมาตรการการประหยัดค่าใช้จ่ายของโมเนอร์ ฟู้ด แล้วก็ตาม ทั้งจากยอดขาย และค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงขยะอาหารที่สูงขึ้นจากการปิดสาขาอย่างทันทีในประเทศจีน

บริษัทมีสาขาธุรกิจอาหารทั้งสิ้น 2,362 สาขา แบ่งเป็นที่ลงทุนเองและสาขาแฟรนไชส์จำนวนเท่ากัน  1,181 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย 1,567 สาขา สัดส่วน 66% และในต่างประเทศ 795 สาขา หรือ 34% ในอีก 25 ประเทศครอบคลุมทั่วทวีปเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป ประเทศแคนาดา และประเทศเม็กซิโก ในไตรมาส 1 ได้ปิดร้านอาหารสุทธิ 15 สาขา เทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นร้านริบส์ แอนด์ รัมส์ ในประเทศออสเตรเลีย และเดอะ คอฟฟี่ คลับ ในประเทศไทย และออสเตรเลีย

ขณะที่ MINT ประสบปัญหาขาดทุน แต่กลับมีหนี้สินรวมเพิ่มขึ้น 111,963 ล้านบาท เป็น  280,279 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2563  ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากเงินกู้ยืมสุทธิ 17,139 ล้านบาท ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หนี้สินภายใต้สัญญาเช่าการเงินจำนวน 95,204 ล้านบาทจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชีTFRS16 ทั้งนี้มีเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 24,115 ล้านบาท ชำระคืนเงินกู้ 10,647 ล้านบาท และดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน 438 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทฯได้มีมติงดการจ่ายเงินปันผลจากกำไรในปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 2,310 ล้านบาท เช่นเดียวกับ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) ได้งดการจ่ายเงินปันผลกุ้นละ 0.55 บาท รวมเป็นเงิน 742.50 ล้านบาท

MINT ประกาศจะยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการโครงสร้างเงินทุนเชิงรุก ด้วยการพิจารณาทางเลือกในการจัดหาเงินทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีหนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีคุณภาพ ในขณะที่ลดต้นทุนทางการเงินให้ได้มากที่สุด การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ พร้อมมีความมั่นใจว่าจะสามารถก้าวผ่านความท้าทายในครั้งนี้และกลายเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เมื่อการระบาดสิ้นสุดลง ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา  โดยบริษัทยังคงความตื่นตัว คล่องตัว และมีการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว  พนักงานทุกคนมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะอยู่ในฐานะที่เหนือคู่แข่ง

ทางด้านราคาหุ้น MINT ทรุดลงอย่างรุนแรง จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 42.75 บาท ก่อนทรุดลงไปต่ำสุดที่ 13.50 บาท ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ก่อนกระเตื้องขึ้นมาปิดที่ 18.10 บาท ณ วันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับบริษัท ยู ซิตี้(U) อาการหนัก และอาจเดินกลยุทธ์ผิด หลังจากเพิ่งบุกไปซื้อโรงแรมหลายแห่งในยุโรป  ส่งผลให้ไตรมาส 1 ขาดทุนถึง 806 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ขาดทุนจำนวน 238 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของ EBITDA รวมถึงการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งผลขาดทุนจากการร่วมค้า และค่าเสื่อมราคาและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการนํา TFRS16 มาใช้ EBITDA ทรุดลง 74.9% เหลือเพียง 33 ล้านบาท แม้มีรายได้รวมเติบโต 36.3 % เป็น 1,992 ล้านบาทเนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมและกําไรจากการจําหน่ายเงินลงทุนในการร่วมค้า

U มีรายได้จากธุรกิจโรงแรมและบริการ 1,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100 ล้านบาท หรือ 8.1% จากการซื้อธุรกิจโรงแรม arcona ในประเทศเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่เดือนพ.ค.2562 ซึ่งบริษัทฯ ได้รับรู้รายได้จากโรงแรมที่เปิดดําเนินงานแล้วทั้ง 17 แห่ง รวมถึงเริ่มรับรู้รายได้โรงแรม Vienna House Kronberg ที่เปิดใหม่ในเดือนก.พ.2563 ด้วย ทำให้มีจํานวนห้องที่เปิดดําเนินการแล้วสุทธิเพิ่มขึ้น 1,956 ห้อง มีจำนวนห้องที่รอเปิดให้บริการในอนาคต จำนวน 19,941 ห้อง ขณะที่อัตราการเข้าพักโดยรวมลดลง 11% และรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน ลดลง 435 บาท จากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งบริษัทมีรายได้ในรูปเงินยูโร

ทั้งนี้โรงแรม 53 แห่งจากทั้งหมด 57 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ทยอยปิดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนมี.ค.2563 เป็นต้นมา

สรุปธุรกิจโรงแรมยังย่ำแย่หนักในไตรมาส 2  ได้แต่หวังว่าครึ่งปีหลังจะพลิกฟื้น ตีกลับแรงเมื่อทยอยเปิดล็อกดาวน์ แต่โควิด-19 ยังอยู่บนโลกนี้อีกนาน อย่าได้หวังว่าจะเห็นกำไรสุดหรูเหมือนในอดีต และต้องจับตาว่าบริษัทแต่ละแห่งจะปรับกลยุทธ์อย่างไร เพื่อเอาชนะสถานการณ์การท่องเที่ยวไม่เบ่งบานอีกหลายปี