MINT แกร่ง ระดมทุนเบ็ดเสร็จ 2.5 หมื่นลบ. ลดรายจ่าย1หมื่นลบ.วางกลยุทธ์ธุรกิจใหม่

HoonSmart.com>>บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลกางแผนเอาชนะโควิด ระดมทุนเบ็ดเสร็จตามแผน 3 ปี (63-66) เริ่มไตรมาส 3 ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน-เพิ่มทุนอย่างละ 10,000 ล้านบาท รอแปลงวอร์แรนต์อีก 5,000 ล้านบาท เพิ่มวงเงินสินเชื่อแบงก์ ลดรายจ่ายเลื่อนการลงทุนปีนี้ 7,000-1 หมื่นล้านบาท ยอมผิดเงื่อนไข D/E เกิน 1.75 เท่าในปีนี้ เจรจาเจ้าหนี้แลก 3 เงื่อนไข ส่วนธุรกิจอาหารในจีนดีเกินคาดหลังเปิดให้บริการ โรงแรมส่วนใหญ่ยังปิดชั่วคราว ตั้งทีม Business Beyond COVID ดูแนวโน้มธุรกิจ-วางกลยุทธ์ใหม่ หุ้นบวก 7.14% หายตกใจผลกระทบเพิ่มทุน “ทรีนีตี้-หยวนต้า” มองบวก

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯอนุมัติให้บริษัทดำเนินการระดมทุนตามแผนเบ็ดเสร็จ รวม 25,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับแผน 3 ปี (2563-2566) โดยในไตรมาสที่ 3/2563 จะออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนมูลค่า 10,000 ล้านบาท ขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมอีก 10,000 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นหลักพร้อมสนับสนุนซื้อหุ้นเกินสิทธิ ส่วนใบสำคัญแสดงสิทธิรุ่นที่ 7 (MINT-W7)ที่แจกฟรีกับหุ้นเพิ่มทุน มีเวลา 3 ปีในการแปลงเป็นหุ้นจะมีเงินเข้ามาอีก 5,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับสภาพคล่องที่ได้มาจากการงดจ่ายเงินปันผลอีก 2,300 ล้านบาท การเจรจาเพิ่มวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินถือว่าเพียงพอต่อการดำเนินงาน

นอกจากนี้ยังมีการตัดค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนบางส่วนหรือเลื่อนโครงการที่ไม่จำเป็นออกไป เดิมมีแผนลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ตอนนี้เหลือ 1-1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายก็ลดลง เช่นเจรจาเจ้าของสถานที่ ทั้งยุโรป และฝั่งเอเชีย เพื่อลดค่าเช่า ซัพพลายก็ขอส่วนลด หรือยืดเวลาชำระ ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ 25%ของค่าใช้จ่ายในปีนี้ โดยรวมแล้วจะน่าลดค่าใช้จ่ายและลดการลงทุน 7,000-1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนและการก่อหนี้ทำให้บริษัทมีสัดส่วนหนี้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(D/E) ถดถอยลงไปบ้าง เพิ่มขึ้นจาก 1.3 เท่า เป็น 1.61 เท่า โดยมีแผนลดลงเหลือ 1.3 เท่าเท่ากับนโยบายของบริษัท แต่จะขอเจรจากับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น เพื่อยกเว้น มี D/E 1.67 เท่า ในไตรมาสที่ 2-4 ของปีนี้ โดยเสนอ 3 เงื่อนไข คือ บริษัทต้องไม่ซื้อกิจการเกิน 3% ของสินทรัพย์รวม ไม่ก่อหนี้ 1.5 แสนล้านบาท และงดจ่ายปันผล

“บริษัทเพิ่มทุน เพื่อสร้างเกาะป้องกันความเสี่ยงจากผลกระทบ หลังจากไตรมาส 1 ขาดทุน 1,773 ล้านบาท ไตรมาส 2 ยังมีความไม่แน่นอน  เพื่อป้องกันว่าเรามีส่วนทุนเพียงพอ และพยายามปรับให้มี D/E อยู่ที่ 1.3 เท่าให้ได้ ซึ่งปีนี้ระดม 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าเพียงพอ ไม่ต้องทำอะไรมากเท่าไรแล้ว มีความแข็งแกร่งเรื่องเงินกองทุน เรื่องสภาพคล่องและการรักษาระดับ D/E “นายชัยพัฒน์กล่าว

สำหรับการเปิดให้บริการร้านอาหารหลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ พบว่าร้านอาหารในเมืองจีนกว่า 100 แห่งที่ปิดไปตั้งแต่เดือนก.พ. มาเปิดในเดือนมี.ค. เห็นยอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ เห็นพัฒนาการดีกว่าที่คาดไว่ แต่หากธุรกิจใดเปิดแล้วยังมีผลขาดทุน ก็จะปิด เพื่อลดการรั่วไหลของเงินสด ควบคุมสภาพคล่อง และรักษากระแสเงินสด โดยภายในองค์กรมีการลดค่าใช้จ่าย มีมาตรการต่างๆ มีการจัดฐานทัพคน เดิมมีพาร์ทไทล์มาก ก็ลดลงเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ ลดเงินเดือนหรือไม่ขึ้นเงินเดือน 3 เดือน ค่อยพิจารณาทุก 3 เดือน ทำทุกระดับ คาดว่าสถานการณ์ในเดือนเม.ย.จะแย่ที่สุด ติดลบ 2,000-3,000 ล้านบาท รวมการลงทุนเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท ส่วนในเดือนพ.ค.-มิ.ย. จัดค่าใช้จ่ายดีขึ้น ช่วยลดการติดลบ

ส่วนแผนในระยะกลางและยาว มีการตั้งคณะกรรมการทำ 7 โครงการหลังจากโควิดคลี่คลายลงแล้ว (Business Beyond COVID ) ดูแนวโน้ม และมีกลยุทธ์ใหม่ เช่นอาหาร  เพิ่มดิลิเวอร์รี่ และมีเมนูมากขึ้น ตอบสนองความต้องการ แต่ปัจจุบันโรงแรมส่วนใหญ่ยังปิดให้บริการชั่วคราว มีพียงร้านอาหารในโรงแรมบางแห่งเริ่มเปิด

นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ MINT กล่าวว่ามีความมั่นใจเป็นอย่างมากว่าแผนการจัดหาเงินทุนที่ครอบคุมในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่ออนาคตของ MINT  ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีคุณภาพที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และ D/Eจะกลับลงมาอยู่ที่ 1.3 เท่า ภายในสิ้นปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขการกู้ยืมที่อยู่ที่ 1.75 เท่า

ด้านนักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้และบล.หยวนต้า(ประเทศไทย) มองการเพิ่มทุนของ MINT ในทางที่ดี ผลกระทบจากการไดลูชั่นไม่มาก  ส่งผลให้ราคาหุ้นปิดที่ 18 บาท +1.20 บาทหรือ +7.14% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 5,353 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของวันที่ 19 พ.ค. 2563