CKP กระแสเงินสดมั่นคง ฝ่าบททดสอบแล้งจัดรอบ 50 ปี ศก.ติดลบ

HoonSmart.com>>ปี 2563 เป็นปีแรกที่บริษัท  ซีเค พาวเวอร์ (CKP) จะเริ่มรับรู้รายได้-ส่วนแบ่งจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีเต็มปี จากการถือหุ้น  37.5% ของขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์  มั่นใจได้ว่าผลการดำเนินงานจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน แม้ว่าอาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง

CKP พลิกมีผลขาดทุนสุทธิ 339 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2563 จากตัวแปรที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท ฤดูร้อนปีนี้เผชิญกับภาวะฝนแล้ง ปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดในรอบกว่า 50-60 ปีส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยลง ถือเป็นวิกฤตและท้าทายต่อผลดำเนินงาน แต่ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจในสภาวะแบบนี้ เมื่อสถานการณ์น้ำฝนเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เป็นโอกาสในการกลับมาพลิกฟื้นและพิสูจน์ว่าโรงไฟฟ้าไซยะบุรีไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการไหลของตะกอนในแม่น้ำโขงแต่อย่างใด

เชื่อว่าการขาดทุนที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวและผลการดำเนินงานได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วสำหรับปีนี้หากปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง และปริมาณฝนสูงกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าผลการดำเนินงานตลอดทั้งปีจะเติบโตไม่น้อยกว่าปี 2562

ดังนั้นนักลงทุนอย่าตื่นตกใจ ขายหุ้น CKP ออกไปเสียก่อนมิเช่นนั้นอาจจะพลาดโอกาสเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากบริษัทที่ลงทุนโรงไฟฟ้าไซยะบุรีมานานกว่า 12 ปี รวมถึงโครงการโซลาร์รูฟท๊อปอีกจำนวน 5 โครงการ และมีแผน COD โครงการโซลาร์พื้นดินอีก 1 โครงการประมาณไตรมาส 2 นี้ รวมถึงการลงทุนโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต

การลงทุนไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดนักลงทุนไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะบรรทัดสุดท้ายของงบกำไร-ขาดทุนเพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันมีตัวแปรเข้ามากระทบมากมาย  กรณีของ CKP
มีรายได้รวม 1,762 ล้านบาท ลดลง 27%จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่บริษัทยังคงมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) จำนวน 687 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ  39% ของรายได้ก่อนรวมส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน)จากเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกันและบริษัทร่วม – 329.50  ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี

นอกจากนี้ CKP มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน  4,547 ล้านบาท  ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา จำนวน 333 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่นซึ่งเป็นเงินลงทุนในกองทุนรวมตราสารตลาดเงินและตราสารหนี้ระยะสั้นอีกจํานวน 612 ล้านบาท

อีกทั้ง CKP ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ในเกณฑ์ดี กล่าวคืออัตราส่วนหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.65 เท่า ต่ำกว่าข้อกำหนดของหุ้นกู้ที่ให้คงอัตราส่วนไม่ให้เกิน 3.00 เท่าสะท้อนว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพียงพอในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายทางการเงิน รวมถึงการลงทุนในการขยายธุรกิจ
โดยยังมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้กับสถาบันการเงินรวมกว่า 10,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการลงทุนขยายกิจการอีกด้วย

ในปี 2563 ซีเค พาวเวอร์ยังต้องผ่านการทดสอบความแข็งแกร่งของธุรกิจและความมั่นคงทางการเงินอีกหลายด่าน  โดยเฉพาะหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจโลกตกต่ำ บางประเทศถึงกับถดถอย สำหรับไทยเองคาดการณ์เติบโตติดลบ แต่จะลงไปมากแค่ไหนต้องติดตามผลของการปรับตัวหลังใช้มาตรการผ่อนคลายเต็มที่อีกครั้ง

ขณะนี้ธุรกิจทุกแห่งได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกัน  เชื่อว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะต้องลดลง  แต่ CKP ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องเนื่องจากโครงสร้างธุรกิจ ลูกค้าหลักที่เป็นคู่สัญญาซื้อไฟฟ้าคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)  เช่น โรงไฟฟ้าไซยะบุรีมีสัญญาขายไฟฟ้าให้กฟผ. ถึง 95% รวม 1,220 เมกะวัตต์ (MW)เป็นระยะเวลา 29 ปี โดยอีก 5% หรือ 60 MW ขายให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวสร้างรายได้และมีกระแสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ CKP จะมีลูกค้าบางส่วนที่เป็นลูกค้าอุตสาหกรรมแต่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งหมดและปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมก็ยังไม่มีสัญญาณลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ

สถานการณ์นี้อาจกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาทดแทนในบางส่วน ซึ่งในระยะยาวคาดการณ์กันว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะยังมีการเติบโตสังเกตได้จากการที่ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเรื่องการใช้ไฟฟ้าในระยะสั้น
แต่ยังไม่มีสัญญาณในการแก้ไขแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะยาว

ความแข็งแกร่งของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ ยังได้รับการประทับตราจากบริษัททริสเรทติ้ง ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรที่ “A” หุ้นกู้ที่ “A-” แนวโน้ม “คงที่”สะท้อนจุดเด่นผลงานและประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในการพัฒนา-ดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ กระแสเงินสดรับที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟระยะยาว กับกฟผ.ถึงประมาณ 92% ของกำลังการผลิตรวม ภายใต้โครงสร้างสัญญาที่ดีช่วยบรรเทาความเสี่ยงหลัก ๆ ในโครงการได้

ทริส ฯ คาดในปี 2563 จะมี EBITDA ทรงตัว 4,000 ล้านบาท ก่อนขยับเป็น 4,500-5,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2564-2565

สิ่งที่ทริส ฯ การันตีเรทติ้งของ CKP นั้นตรงกับสิ่งที่นักลงทุนสถาบันต่างประเทศมองเห็น จึงไม่แปลกที่มีการเข้ามาลงทุนในหุ้น CKP เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ลงทุนโดยตรงและลงทุนผ่าน NVDR   เพราะมีความเชื่อมั่นในศักยภาพและการเติบโตในระยะยาว สุดคุ้มค่ากับการเข้ามาเก็บในช่วงที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศมีปรับพอร์ตลดหุ้น CKP  ลงบ้างในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา

CKP มีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วตามสัดส่วนการถือหุ้น ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 765 เมกะวัตต์ (82%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2 แห่งขนาดรวม 155 เมกะวัตต์ (17%) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 16 เมกะวัตต์ (1%)โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดของ CKP มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว

นักลงทุนไทย โดยเฉพาะรายย่อยจะไม่สนใจเก็บหุ้น CKP ในช่วงเวลานี้บ้างหรือ