GPSC กำไรสดใส ต้นทุนพลังงานลด MW เพิ่ม

HoonSmart.com>>โกลบอล เพาเวอร์ฯปรับตัวขึ้นแรงเฉียด 4 % รับแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโต ต้นทุนก๊าซ-ถ่านหินถูกลงตามน้ำมัน  กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้น ได้มูลค่าเพิ่มจากซื้อโกลว์พลังงานปีนี้ 400 ล้านบาท ไม่รวมโครงการที่ซื้อใหม่  เตรียมขออนุมัติผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้ 4 หมื่นล้าน เตรียมงบลงทุน 5 ปี รวม 6 หมื่นล้านบาท   ตั้งเป้าปี 2566 มี 5,026 เมกะวัตต์ ส่วน ปตท. และปตท.สผ.ใช้กลยุทธ์ ลดงบลงทุน-รายจ่ายไม่ต่ำกว่า 10%  

นางวนิดา บุญภิรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 จะเติบโตต่อเนื่อง เพราะราคาก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักลดลง สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ คาดราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 เหรียญฯ/บาร์เรล

นอกจากนี้ บริษัทฯได้ซื้อโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 9 โครงการ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิจิตร สุพรรณบุรี ลพบุรี และขอนแก่น โดยมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 39.5 เมกะวัตต์ (MW) และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว มีอายุสัญญาคงเหลือจนถึงปี 2582 -2583 คาดจะส่งผลต่อกำไรดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และยังมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น โรงงานแบตเตอรี่ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 2563 นี้

นางวนิดากล่าวว่า บริษัทยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเข้าซื้อกิจการบริษัทโกลว์ พลังงาน (GLOW) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและบริการ รวมถึงสร้างความมั่นใจในระบบจ่ายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคไปยังลูกค้า จากการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบส่งไฟฟ้าและระบบท่อส่งไอน้ำเข้าด้วยกัน ปีนี้คาดจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 400 ล้านบาท จากไตรมาส 1 มีจำนวน 120 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทฯ มีการขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม 51% ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 48% และลูกค้าอื่นๆ อีก 1% ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระทบกับลูกค้านิคมอุตสาหกรรมในบางกลุ่ม แต่ไม่มีผลต่อ GPSC อย่างมีนัยสำคัญ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินกล่าวว่า บริษัทยังมีแนวโน้มยังมีการเติบโตในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า (2563-2566) จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 5,026 เมกะวัตต์ มาจากพลังงานทดแทนเพียง 11% ตั้งเป้าเพิ่มเป็นสัดส่วน 30% เพื่อมุ่งเป้าเติบโตต่อเนื่อง ตั้งงบลงทุน 5 ปี (2563-2567) ไว้ที่ 60,000 ล้านบาท ทั้งนี้มีแผนขออนุมัติผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี และยังคงรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ไม่เกิน 1 เท่า

“กลยุทธ์การดำเนินงานยังคงมุ่งเน้นไปใน 3S ได้แก่ Synergy&Integration, Selective Growth หรือการพิจารณาการเติบโตอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเติบโตไปพร้อมกับกลุ่มปตท. หรือบริษัทเอง และ S-Curve หรือการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ เช่น การลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ การทำ Energy Storage System และการตั้งเป้าเป็น Energy Management Solution Provider”นางวนิดา กล่าว

ด้านราคาหุ้น GPSC วันที่ 20 พ.ค. 2563 ปรับตัวขึ้นแรง ปิดที่ 76 บาท + 2.75 บาทหรือ 3.75% มูลค่าซื้อขายมากถึง 2,323 ล้านบาท

ส่วนบริษัทปตท.(PTT) น.ส.พรรณพร ศาสนนันทน์ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์ใหม่ มีการลดงบการลงทุน และงบการดำเนินการไม่ต่ำกว่า 10-15%ในปี 2563 เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินงานภาพรวม ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมันหายไปประมาณ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งกลุ่มโอเปกสั่งลดกำลังการผลิตประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอยู่ที่ 3-4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ค่าการกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ 2-3.5 เหรียญสหรัฐฯ

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ยังขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศ  โรงแยกก๊าซที่มีการผลิตทั้งที่ใช้ในกลุ่มปิโตรเคมีและที่ใช้ในครัวเรือน LNG ยังได้รับผลกระทบอยู่ ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ราคาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์ ราคายังถูกกดดันความต้องการใช้ทั่วโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ขณะที่มีผู้ผลิตเพิ่มกำลังการผลิตเข้ามาในธุรกิจปิโตรเคมีโลก แต่สเปรดจะปรับขึ้นดีมาก จากการที่ราคาแนพทา ที่แปรผันตามราคาน้ำมันดิบโลก

บริษัทวางแผนออกหุ้นกู้ เพื่อนำไปชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่หมดอายุในปีนี้ ประมาณ 26,000 ล้านบาท บริษัทยังคงดูแลไม่ให้ D/E Ratio เกิน 1 เท่า จากปัจจุบันที่ 0.3 เท่า

ด้านนางชนมาศ ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่ต่ำลง ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก   แต่ในปี2563 คาดปริมาณขายก๊าซเหลือ 362,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 7% จากเมื่อต้นปีตั้งไว้ 390,000 บาร์เรลต่อวัน คาดราคาขายก๊าซเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐฯต่อMMBTU

แนวโน้มไตรมาส 2 จะมีปริมาณการขายก๊าซ 349,000 แสนบาร์เรลต่อวัน ในราคา 6.2 เหรียญสหรัฐฯต่อMMBTU มองว่าราคาน้ำมันถึงจุดต่ำสุดแล้ว คาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 36-37 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ยังคงเน้นการลดต้นทุน ลดเงินลงทุนประมาณ 15-20% จากเดิมตั้งเงินลงทุนไว้ที่ 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ชะลอการลงทุนในแหล่งที่การขุดเจาะล่าช้า แต่โครงการโมซัมเบิก ยังเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ แต่อาจจะล่าช้าจากผลกระทบโควิด-19 คาดว่าปี 2564 จะสรุปแผนการลงทุนก๊าซธรรมชาติที่ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันบริษัทยังมีกระแสเงินสดที่ดี อยู่ที่ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ