ค้านตลาดฯต่อเวลาชอร์ตเซล 30 ก.ย. ปิดทางรายย่อยเก็งกำไร- ธุรกิจ SBL วูบ

HoonSmart.com>>25 พ.ค.2563 เป็นวันสุดท้ายที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง สำหรับการพิจารณาขยายเวลาใช้หลักเกณฑ์ชั่วคราว “ชอร์ตเซล และซิลลิ่ง& ฟลอร์” ออกไปเป็นวันที่ 30 ก.ย.2563 จากเดิมที่จะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย.2563 เนื่องจากภาวะตลาดยังคงผันผวนสูง ตลาดหลักทรัพย์ออกตัวแรงเกินไป เรื่องการขยายเวลา “ชอร์ตเซล” 

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น มี 3 คำถามที่ต้องการคำตอบ คือ 1. ทำไมต้องซื้อเวลาถึง 3 เดือน 2.ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกณฑ์ใหม่ จะดูแลอย่างไร เช่นนักลงทุนรายบุคคลมีโอกาสน้อยลงในการบริหารพอร์ตด้วยเครื่องมือชอร์ตเซล ที่สามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง และ 3.เรื่องสำคัญ ต้นเหตุของการออกใช้เกณฑ์ใหม่ เกิดจากนักลงทุนต่างชาติทำ “เน็กเก็ตชอร์ต” ขายหุ้น ทั้งๆที่ไม่มีใบหุ้นอยู่ในมือ ทำให้ตลาดเหวี่ยงขึ้น-ลงรุนแรง ขณะนี้แก้ไขได้แล้วหรือยัง หากแก้ไม่ได้ และเลือกใช้วิธีการยืดเกณฑ์ชั่วคราวออกไป ถือว่าสะส่างปัญหาไม่ถูกต้อง

ตลาดหลักทรัพย์วางหลักเกณฑ์ชั่วคราว ให้โบรกเกอร์เสนอขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (plus tick rule) ไม่สามารถเคาะทันทีในราคาตลาด โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่การซื้อขายภาคบ่ายของวันที่ 13 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา หลังจากเห็นว่าตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่ง จนนำไปสู่การหยุดการซื้อขายชั่วคราวหรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ เมื่อดัชนีหุ้นปรับตัวลงแตะ 10% ติดต่อกันสองวันคือ ในวันที่ 12 มี.ค. นับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีเศษ และวันที่ 13 มี.ค. ต้องหยุดพักกลางอากาศ ตั้งแต่ไก่โห่ เปิดการซื้อขายเพียงไม่กี่นาที พร้อมถือโอกาสในการปรับลดเปอร์เซนต์การติดเซอร์กิต เบรกเกอร์เหลือ 8% และปรับลดเพดานราคาขึ้นสูงสุด(ซิลลิ่ง) และราคาต่ำสุด(ฟลอร์) จาก 30% ลงเหลือ 15% ของราคาปิดครั้งก่อน ซึ่งมาตรการที่ออกมาได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ตลาดเริ่มมีเสถียรภาพชัดเจน

เห็นด้วยกับตลาดหลักทรัพย์ เรื่องแนวโน้มการลงทุนยังคงมีความผันผวนสูง ท่ามกลางข่าวร้ายรออยู่ข้างหน้าอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจโลกตกต่ำ บางประเทศอาการหนักถึงกับถดถอย และผลกระทบจากการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในงวดไตรมาสที่ 2/2563 คาดบริษัทหลายแห่งมีโอกาสเผชิญวิกฤตการณ์ ทั้งขาดทุนและขาดสภาพคล่องรุนแรง การคงราคาซิลลิ่ง & ฟลอร์ที่ระดับ 15% อาจจะจำเป็น เพื่อไม่ให้ตลาดได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบอย่างรุนแรง

แต่มาตรการชั่วคราวของชอร์ตเซลที่ออกมาดูเหมือนว่าจะเป็นการเหวี่ยงแห่ที่กว้างเกินไป

นักลงทุนรายบุคคลที่เคยใช้ชอร์ตเซลเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารพอร์ต บริหารความเสี่ยง ก็ได้รับผลกระทบด้วย เพราะเกณฑ์ใช้ราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย ในทางปฎิบัติไม่สามารถเกิดรายการซื้อขายได้มากนัก และส่งผลต่อเนื่องถึงธุรกิจยืมและให้ยืมหุ้น(SBL)ตามมาด้วย ทำให้นักลงทุนระยะยาว  หรือพอร์ตนิ่งๆ เคยให้ยืมหุ้น เคยมีรายได้ค่าธรรมเนียมก็ไม่มีอีกต่อไป ขณะเดียวกันโบรกเกอร์คนกลางก็ขาดรายได้ในส่วนนี้ด้วย

ที่สำคัญคือ การต่ออายุมาตรการครั้งนี้ เป็นการแก้ไขไม่ตรงจุด หากพิจารณาข้อมูลการซื้อขายหุ้นในวันที่ตลาดต้องใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์จะพบว่า ยอดการชอร์ตเซลไม่ได้มากเลย คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของการซื้อขายทั้งตลาด และเมื่อแยกแยะเป็นหุ้นรายตัว โดยเฉพาะหุ้นที่เป็นขวัญใจของนักลงทุน อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์(CPALL) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์( GULF)  และบริษัทปตท.(PTT) มีเพียง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่มีสัดส่วนเกิน 10% ในวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในส่วนที่ทำผ่าน NVDR ในวันที่ 23 มี.ค. ไม่มีรายการเกิดขึ้นสำหรับหุ้น CPALL,PTT และ SCC

แต่กลับพบว่ายังมีการทำเน็กเก็ตชอร์ตเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งการตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ของโบรกเกอร์บางรายที่สูงผิดปกติอยู่ สะท้อนว่าตลาดไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ทั้งหมด หากมีการลงโทษหรือป้องปรามได้เชื่อว่าตลาดหุ้นจะมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาตรงจุด

สรุปชอร์ตเซลที่ใช้ SBL ไม่ได้เป็นผู้ร้าย และปัจจุบันตลาดหุ้นต่างประเทศ เช่น ในยุโรปมีการผ่อนคลายการห้ามทำชอร์ตเซลแล้ว  ส่วนในเอเชีย ตลาดหุ้นมาเลเซียจะกลับมาใช้เกณฑ์ปกติในสิ้นเดือน มิ.ย.2563 นี้ แต่ตลาดหลักทรัพย์จะเล่นบทเข้มต่อไปอีก 3 เดือน ทำไม?