ดีบีเอสฯเพิ่มเป้า TOP 54 บาท OPEC+ ถก 4 มิ.ย.ยืดลดผลิต

HoonSmart.com>>ไทยออยล์ดูดี บล.ดีบีเอสฯปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ความกังวลด้านอุปสงค์-อุปทานน้ำมันผ่อนคลาย ค่าการกลั่น-สเปรดอะโรเมติกส์ดีขึ้น

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มองบวกหุ้นบริษัทไทยออยล์ (TOP) เพิ่มคำแนะนำเป็น” ซื้อ” จาก “ถือ” และปรับราคาเป้าหมายเป็น 54 บาท/หุ้น จากเดิมให้ไว้ 41 บาท หลังความกังวลการหดตัวของอุปสงค์และภาวะอุปทานล้นเกินผ่อนคลาย

TOP เป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงของไทย ดีบีเอสฯปรับลดผลกระทบทางลบจากค่าการกลั่นน้ำมัน JET และเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางที่มีส่วนลด OSP สูง คาดว่าในไตรมาส 2 น้ำมันดิบจากตะวันออกกลางจะให้ส่วนลดราคาน้ำมันดิบราว 6-7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเทียบกับภาวะปกติจะเป็นพรีเมียม 2-5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล มองว่าการผ่อนคลายล็อกดาวน์จะทำให้ค่าการกลั่นดีขึ้น รวมถึงค่าการกลั่น JET ก็อาจไม่ได้อ่อนแอยาวนานอย่างสมติฐานที่ทำไว้ในก่อนหน้า

สเปรดอะโรเมติกส์ในไตรมาส 2 ดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยในส่วนสเปรด PX เพิ่มขึ้น +11% เป็น 292ดอลลาร์สหรัฐ /ตัน ด้านสเปรดเบนซีน -1% เป็น 164 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน โดยหลักมาจากต้นทุนวัตถุดิบถูกลง และอุปสงค์ PET ยังคงแข็งแกร่งเพราะได้อานิสงค์บวกจากโควิด-19

ด้านราคาหุ้น TOP วันที่ 1 มิ.ย. ขึ้นไปสูงสุดถึง 45.25 บาท ก่อนปิดที่ 44.50 บาท บวก 1.50 บาทหรือ 3.49% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 990 ล้านบาท หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น เช่น เบรนท์เคลื่อนไหวบริเวณ 37.76 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -0.08 ดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตร  (OPEC+) เตรียมจัดการประชุมด่วน  วันที่ 4 มิ.ย.นี้ เพื่อหาแนวทางการขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันออกไปอย่างน้อย 1-3 เดือน

กลุ่ม OPEC+ กล่าวว่า การประชุมด่วนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เนื่องจาก สถานการณ์น้ำมันดิบโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งการประชุมนี้ เพื่อหามาตรการรองรับระยะสั้น และไม่กระทบต่อการปรับสมดุลของตลาด รวมถึงการพยุงราคาน้ำมันไม่ลดลงต่ำกว่า 30 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่ง OPEC+ ต้องตัดสินใจว่าจะยึดตามข้อตกลงปัจจุบัน หรือ ขยายเวลาออกไปอีก 1-3 เดือน

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา OPEC+  มีมติลดการผลิตน้ำมันลง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 10% ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลก จนถึงเดือน พ.ค. – มิ.ย.

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบีย , คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรต ยังมีมติลดการผลิตน้ำมันเพิ่มอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน  ทำให้การผลิตน้ำมันทั่วโลก ลดได้มากถึง  11 ล้านบาร์เรล/วันโดย OPEC+ ยังมีมติปรับลดการผลิต 8 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนก.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 2563 และลดการผลิตเหลือ 6 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 ไปจนถึงเดือนเม.ย. 2565