CPF เดินหน้าสู่เป้าหมาย “ครัวของโลก” สู่การเติบโตยั่งยืน

HoonSmart.com>>CPF  เดินหน้าสู่เป้าหมาย“ครัวของโลก” เน้นกระบวนการผลิตอาหาร ใส่ใจสมดุลธรรมชาติ  เพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานทดแทน  การจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติก  สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ     
   
    วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์

        

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส  ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ( CPF )  กล่าวว่า บริษัท ฯ มีเป้าหมายสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก ” เพื่อส่งมอบอาหารคุณภาพ สะอาด และปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน  (Circular Economy)   บริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพคุ้มค่า    รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)          

 “ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ของทุกปี ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก เราให้ความสำคัญกับอาหารทุกคำที่บริโภคต้องปลอดภัย มาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเราตระหนักดีว่าสมดุลของชีวิตมาจากสมดุลของธรรมชาติ ที่ทุกคนต้องออกมาช่วยปกป้องและรักษาให้เหมือนกับที่ทุกคนดูแล ตัวเองในทุกๆวัน ” นายวุฒิชัย กล่าว 
       
ซีพีเอฟ ใช้ทรัพยากรน้ำตลอดกระบวนการผลิต บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ  ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งบางสระเก้า และฟาร์มร้อยเพชร  นำระบบไบโอฟลอค(Bio-Floc) ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถบำบัดสารละลายไนโตรเจน ที่เกิดจากของเสียที่ขับถ่ายจากกุ้ง ลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในระหว่างการเลี้ยง  ทำให้การใช้น้ำลด  70 % เทียบกับการเลี้ยงกุ้งโดยทั่วไป และนำเทคโนโลยี Ultra Filtration (UF) กรองน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว หมุนเวียนกลับมาใช้เลี้ยงกุ้งมากกว่า  90 %   เป็นต้น    
นอกจากนี้  บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะพลาสติก โดยในปี 2563 นำพลาสติกบรรจุอาหารกลับมาใช้ซ้ำ (reusable) หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) แล้ว 100%  
 
ปัจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่  26 %  ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด  ผ่านโครงการต่าง ๆ  อาทิ  โครงการพลังงานจากชีวมวล ซึ่งโรงงานอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำนำวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษไม้ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในหม้อไอน้ำ  โดยตั้งเป้ายกเลิกการใช้ถ่านหินภายในปี 2565  
 
โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารแปรรูป โรงงานอาหารสำเร็จรูป และศูนย์กระจายสินค้า รวม  24 แห่ง ติดตั้งแผง Solar PV บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป)  เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในกระบวนการผลิต โดยมีกำลังการผลิตทั้งหมด 15 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพภายในปี  2563   ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้  425,000  ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
 
ด้านสังคม  โครงการ “ซีพีเอฟ  รักษ์นิเวศ  ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ” อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ในพื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี   5,971 ไร่  (ปี 2559-2563)  ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนจากการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่าไม้ 39,690 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี