SCB คาดศก.ไตรมาส 2 หดตัว 12% กับดักมาก ฟื้นตัวช้า

HoonSmart.com>>ค่ายไทยพาณิชย์ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือ -7.3% หลังท่องเที่ยว-ส่งออกหดตัวแรง คาดตกงาน  3-5 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากโควิดถึง 10 คน  ครัวเรือนมีเงินสดอยู่ได้เพียง 3 เดือน กดดันกำลังซื้อและการลงทุนทรุด  ระวังเรื่องผิดนัดชำระหนี้ บริษัทเล็กขายหุ้นกู้ลำบาก รายใหญ่ออกได้ และพึงพาสินเชื่อแบงก์  จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง 

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ -7.3% จากเดิมที่คาดไว้ -5.6% เนื่องจากตัวเลขสำคัญหดตัวลงแรง ภาคการส่งออกจะติดลบ -10.4% และคาดนักท่องเที่ยวจะเข้ามาเพียง  9.8 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 13.1 ล้านคน หรือหายไป 3 ใน 4 จากปีที่ผ่านมาเข้ามา 40 ล้านคน

“คาดว่าคนจะตกงาน 3-5 คน แต่ได้รับผลกระทบจากโควิดถึง 10 ล้านคน รายได้ต่อครัวเรือนลดลงมาก  ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดก่อนโควิด-19 จะมา ครัวเรือนไทย มีสภาพคล่อง โดยเฉพาะเงินสด รองรับเพียง 3 เดือน หรือเกือบ 60% มีไม่ถึง ไม่สามารถอยู่ได้ เป็นความเปราะบางของเศรษฐกิจ”นายยรรยงกล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะเป็นระดับต่ำสุด -12% หลังจากนั้นจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ  U-shape เนื่องจากความเชื่อมั่นต่ำ การว่างงานที่ยังคงสูง ทำให้การบริโภคและการลงทุนไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว

สำหรับการเปิดกิจการใหม่ มีน้อยกว่าการปิดกิจการ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ภัตตาคาร โรงแรม  ขณะเดียวกันธุรกิจยังประสบปัญหาสภาพคล่อง ปริมาณการออกหุ้นกู้ชะลอลง ยกเว้นรายใหญ่ หรือบริษัทที่มีเรทติ้งดี ยังออกได้บ้าง โดยรวมต้นทุนสูงขึ้น และธุรกิจรายใหญ่พึ่งพาแบงก์มากขึ้น แต่รายย่อย SMEs ยังติดลบ

ส่วนตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่ยังไม่เท่ากับต้นปี ความมั่งคั่งของตลาดหายไป  ส่วนค่าเงินบาท คาดว่า สิ้นปี 2563 อยู่ในช่วง 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เงินบาทจะไม่อ่อนค่ามากนัก เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะไม่แข็งมากเหมือนในช่วงต้นไตรมาส 2 ที่เกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงินโลก ทั้งนี้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาก จากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวในระดับสูง

นายยรรยงยังคาดว่าแบงก์ชาติจะคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตลอดทั้งปี และพร้อมใช้เครื่องมือต่างๆ  เช่น การลดเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลงอีก หรือมีการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาล ที่ธนาคารกลางหลายประเทศใช้อยู่   หากมีความจำเป็น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ และความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่สูงขึ้น

สำหรับความเสี่ยงมี 3 ประเด็นที่จะต้องติดตาม เช่น 1. สงครามการค้า 2. โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ทั้งภาคธุรกิจและระดับประเทศด้วย เพราะบางประเทศหนี้สาธารณะสูง ส่วนของไทยถูกปรับแนวโน้มอันดับเครดิต แต่หนี้สาธารณะยังไม่สูงมาก และ3.โอกาสในการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ที่อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงักอีกครั้ง