SCB ก้าวไกลเกินธุรกิจแบงก์ เปิดตัวแอพ “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ใช้ฟรี

HoonSmart.com>>ธนาคารไทยพาณิชย์พบทางรอดยามถูก disruption สร้างวัฒนธรรมองค์กรตัวเบา ต่อยอด Digital Transformation เปิดแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย “โรบินฮู้ด” ให้บริการฟรี ช่วยร้านอาหารทำธุรกิจยั่งยืน หวังต่อยอดบริการแบงก์ เปิดโอกาสให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ พบ 90% ทำงานที่บ้าน ประสิทธิภาพดีขึ้น คาดโควิดยังอยู่อีกนาน ช่วยลูกค้ารอด ธนาคารรอดด้วย ยันไม่ใช้วิธีดึงเงินกลับเหมือนในอดีต ไตรมาส 2 ตั้งสำรองปกติ 

อาทิตย์ นันทวิทยา

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) แถลงข่าวยุทธศาสตร์ “SCB New Normal” เปิดเผยว่า ธนาคารเชื่อว่า วิกฤตโควิด-19 ยังไม่จบ และเศรษฐกิจกว่าจะกลับมาแข็งแรง คงต้องใช้เวลาพอสมควร ได้อาศัยช่วงเวลาวิกฤตมาพัฒนาองค์กรและวิถีการทำงานรูปแบบใหม่  จากรากฐานที่แข็งแรงจากการทำ Digital Transformation พบว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์กรตัวเบา คล่องตัว ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (SCB work from anywhere) และต่อยอด Digital Transformation นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ  วางรากฐานสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้สามารถฝ่าคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำจากทุกทิศทางได้

ภารกิจแรก คือการสร้างแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ภายใต้ชื่อ “Robinhood (โรบินฮู้ด) ” เป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ให้บริการฟรีแก่ธุรกิจอาหาร โดยไม่เก็บค่าจีพี สมัครฟรี ไม่มีการชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ช่วยให้คนไทยทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรง และบรรเทาปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์  ขณะที่ลูกค้าได้อาหารในราคาที่เหมาะสม เริ่มให้บริการปลาย ก.ค.นี้ ร่วมกับ บริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ (Skootar) ที่มีรถมอเตอร์ไซด์มากกว่า 20,000 คัน

Robinhood เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมเศรษฐกิจ เป็นแพลตฟอร์มที่สื่อถึงการช่วยเหลือกัน การแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก คือ จุดแข็งที่ทำให้คนไทย สังคมไทย และประเทศไทยสามารถรอดพ้นทุกวิกฤตที่เผชิญได้

“แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็น CSR ของแบงก์ แนวคิดและแรงบันดาลใจ เกิดขึ้นในช่วงโควิด ผมใช้เวลา 80-90% ทำงานที่บ้าน สั่งอาหารมาทาน เกิด New Normal ขึ้นในประเทศ แต่การสั่งอาหารแพง เราเป็นเสาหลักหนึ่งของสังคม และมีความพร้อมที่จะช่วยทำให้ทุกคนมีต้นทุนต่ำลง ในการสั่งอาหารด่วน ธนาคารใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น และหากได้รับความนิยม ก็จะทำให้ผู้ใช้อยู่กับเรานานขึ้น จากที่ผ่านมาใช้ไม่ถึง 1 นาทีก็ออกไป และยังสามารถเพิ่มบริการใหม่อีกมากในอนาคต เช่นเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ โดยไม่มีการแข่งขัน และไม่มีการตั้งเป้าหมาย” นายอาทิตย์ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร  กล่าวว่า ธนาคารได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมานาน ช่วยได้มากในการหาทางออกช่วงวิกฤต ในการนำเสนอลูกค้า และการทำงานที่บ้าน ธนาคารมีพนักงานเกือบ 9,000 คน ในช่วงโควิดมีความรุนแรงมาก สามารถทำงานที่บ้านกันถึง 90% หมายถึงเข้ามาทำงานที่ทำงานไม่เกิน 1,000 คน แต่ผลที่ได้งานดีกว่าเดิม

“อยู่ๆ คนหายไป 8,000 คน แต่ประสิทธิภาพของธุรกิจยังดีเหมือนเดิม เพราะเรามีความพร้อม ในการลงทุนด้านพื้นฐาน เทคโนโลยีใหม่เข้ามา และผสมผสาน เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีๆมากในการได้ลอง ทำให้รู้ว่าเราตัวเบา  จากการสำรวจพบว่า การทำงานที่มีประสิทธิภาพมาก แม้มีข้อติดขัดเกิดขึ้น แต่ใช้เวลาน้อยในการแก้ไขอุปสรรค ต่อไป จะไม่ทำงานที่บ้านเท่านั้น แต่จะทำงานที่ไหนก็ได้ที่ปลอดภัย การไม่เดินทาง จะมีความปลอดภัยและได้อยู่ในครอบครัว  แต่ยังมีความจำเป็นที่จะเข้ามาทำงานที่ธนาคาร เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ในแต่ละแผนก  สร้างองค์กร ให้มีการสร้างความสัมพันธ์ มากกว่าที่จะนั่งประชุมกัน”

สำหรับการทำงานในปีนี้ มีปัญหาไกลและปัญหาใกล้จะต้องดูแล   4 เดือนที่ผ่านมามีการ disruption เกิดขึ้นแล้ว ปัญหาของลูกค้า ใครที่ใจไม่แข็ง จะต้องนิ่ง ไม่แพนนิค ช่วยลูกค้า แต่จะไม่ทำเหมือนในอดีต คือ การดึงเงินกลับ ทุกอย่างจะล้มลง เหมือนปี 2540  ตอนนี้มองว่าปัญหาที่เกิดจากอุบัติเหตุ จะต้องดูแลให้ลูกค้ารอด ตอนทำยังไม่บาดเจ็บ ถ้าทำ จะมีโอกาสในการบาดเจ็บน้อย สังคมทั้งระบบมีโอกาสที่จะรอดมากกว่า ทั้งลูกค้า SME ลูกค้าบุคคล มีงานทำ มีอาชีพ แบงก์จะไปต่อได้  ต้องดูแลรายละเอียดกับลูกค้า จะทำอย่างไรที่จะผลักดันให้ผ่านพ้น ซึ่งไม่ใช่วิธีปกติ จะต้องกล้าคิด และจะต้องไปด้วยกันกับลูกค้าที่ไม่คิดที่จะโกง ลูกค้าจะต้องไปด้วยกัน ช่วยกันผลักดัน จะไปต่อกับธนาคาร  ทุกคนรอด ธนาคารก็จะรอด ส่วนไตรมาส 2/2563 คงจะตั้งสำรองไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา  จากการผ่อนปรนของธนาคารแห่งประเทศไทย แนวโน้มไม่เห็นการล้มละลาย

นายอาทิตย์กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อไม่เพิ่มขึ้นมาก ตอนนี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่ม เกี่ยวกับโรงแรมและท่องเที่ยวมาใช้เงินสำรอง จากที่เคยใช้ผ่านหุ้นกู้  ในช่วง 2-3 เดือนตลาดปิด เมื่อมีความต้องการใช้เงินก็มาที่แบงก์ดีขึ้น ส่วนสาขาที่มีอยู่ จะไม่มีการปิด  แต่จะปรับเปลี่ยนขนาดเล็กลงจำนวน  200-300 สาขา พนักงานสาขาจะต้องออกไปทำธุรกิจกับลูกค้า อยู่ในงานขายสินเชื่อ เจอลูกค้ามากขึ้น ไม่ใช่ตั้งรับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำมา 3-4 ปีที่ผ่ามา