AEC มีดีอะไร? ซิลลิ่ง 6 วันติด

HoonSmart.com>>แปลกแต่จริง บริษัทขาดทุนมานานหลายปี แถมยังมีฐานะการดำรงเงินกองทุนเงินสภาพคล่องสุทธิ (NC) และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ต่ำกว่าเกณฑ์ จนถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งระงับการทำธุรกิจชั่วคราว  แต่ราคาหุ้นบล.เออีซี (AEC) กลับพุ่งแรงชนเพดานสูงสุด 15% ติดต่อกันถึง 6 วัน   

 

ล่าสุด วันที่ 10 มิ.ย. 2563 ราคายังวิ่งขึ้นไปชนซิลลิ่งที่ 0.42 บาท ก่อนย่อมาปิดที่ 0.36 บาท -0.01 บาทหรือ 2.70% สำหรับการซื้อขายหุ้นภาคเช้า

” ใครซื้อหุ้น AEC ถูกจังหวะเวลา ถือเพียงไม่กี่วัน ก็ได้กำไรเกิน 100%  เทียบกับราคาที่ระดับ 0.20 บาท เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่มีปัจจัยสนับสนุน และคงไม่ใช่เพราะดีใจกับการกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติของบริษัท”

บล.เออีซีดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ แต่มีความแตกต่างจากบริษัทแห่งอื่นตรงที่มีพอร์ตลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่พอสมควรเมื่อเทียบกับขนาดของบริษัท ที่ผ่านมาพอร์ตเป็นตัวสร้างรายได้และตัวสร้างปัญหา เห็นได้จากบริษัทขาดทุนมานาน ที่สำคัญยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้ถูกห้ามทำธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์  หลังจากดำรงเงินกองทุน NC ต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะบริษัทไม่ได้คำนวณค่าความเสี่ยงจากการกระจุกตัว สำหรับรายการเงินลงทุน

บริษัทชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า NC ต่ำกว่าเกณฑ์เกิดจากการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทการบินไทย(THAI) ที่ถูกลดอันดับเครดิตจาก A เป็น C อย่างกะทันหัน และหุ้นกู้อื่นๆ  ที่มีรายการขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับ NC เกิน 75 % ตามเกณฑ์จะตัดเป็นศูนย์ทันที

บริษัทขาดทุนมานานกว่า 5 ปี โดยเฉพาะปี 2562 เพิ่มพรวดทะลุ 237 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ยังโชว์ตัวแดงต่อ 40 ล้านบาท โดยรวม ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563 มียอดขาดทุนสะสมถึง 605 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจะต้องตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าทุกไตรมาส บางปีสูงมาก

ตลาดหลักทรัพย์ยังมีการตั้งคำถามบริษัทให้ชี้แจงเรื่อง รายการตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าของตราสารทุนจดทะเบียนและตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะถือจนครบกำหนดในจำนวนที่มีนัยสำคัญ คิดเป็นมูลค่า 52% ของมูลค่าเงินลงทุนในตราสารดังกล่าวส่งผลให้ปี 2562 มีผลขาดทุนถึง 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 291%จากปีก่อน

บริษัทชี้แจงว่าเคยมอบหมายให้บลจ.บริหาร แต่เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ได้โอนหลักทรัพย์เข้าบัญชีหลักทรัพย์เพื่อค้าของบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทก็มีการลงทุนในตราสารทุนเป็นบัญชีหลักทรัพย์เพื่อค้าอีกส่วนหนึ่ง และเมื่อประมาณกลางปี 2561 บอร์ดมีมติให้โอนหลักทรัพย์บางส่วนไป “บัญชีเผื่อขาย” ลงทุนระยะยาวเพื่อรอขายเมื่อมีมูลค่าที่เหมาะสม ณวันที่  30 มิ.ย.2562 บัญชีการลงทุนมีมูลค่าคงเหลือจำนวน 133 ล้านบาท หักค่าเผื่อการปรับมูลค่า 87 ล้านบาท มูลค่าสุทธิคงเหลือ 46 ล้านบาท

แม้ว่าบริษัทมีหลักเกณฑ์การลงทุนชัดเจน  เช่น  หุ้นใน SET100, ใน most active 200 ตัว หรือที่มีลักษณะที่กำหนด เช่น ROE มากกว่าหรือเท่ากับ 4%, P/BV ไม่สูงกว่า 3 เท่า, P/E ไม่สูงกว่า 40 เท่า โดยคณะกรรมการการลงทุนได้มอบหมายให้ฝ่ายวิจัยทำการคัดเลือกหุ้นมาให้ แต่ในพอร์ตของบริษัทยังมีหุ้นบริษัทเอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP)จำนวน 1.33% และบริษัท พีพี ไพร์ม(PPPM) สัดส่วน 2.81% ทั้งสองบริษัทอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้

อย่างไรก็ตาม “ชอง อี ไต้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี เปิดเผย www.Hoonsmart.com ว่า บริษัทจะดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กองทุนสภาพคล่องสุทธิของบริษัทฯ กลับมาติดลบอีก   ซึ่งบริษัทฯ พยายามสร้างฐานการเงินใหม่ให้มั่นคง โดยในเดือนส.ค.นี้ จะเพิ่มทุนอีก 300 ล้านบาท และออกหุ้นกู้วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพราะการหยุดธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์  ช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทเสียหาย เสียลูกค้า และเสียโอกาสมากมาย

นายไต้ กล่าวว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้ซื้อหุ้น AEC เพราะมีความเชื่อมั่นบริษัท โดยซื้อเก็บไปกว่า 2% ของทุนชำระแล้วทั้งหมด

เชื่อว่าการใส่เงินเข้ามาใหม่คงไม่สามารถสะส่างปัญหา AEC ได้เบ็ดเสร็จในระยะยาว หากยังไม่ปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตลงทุน เชื่อว่าจะยังคงสร้างปัญหาให้บริษัทอีกนาน  ธุรกิจหลักทรัพย์จะเจริญเติบโตได้ ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือ ผลการดำเนินงานจะต้องมีเสถียรภาพ  หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วจะเหนื่อยมาก เพราะโลกของการลงทุนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป การขายหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นกู้จะใช้ผลตอบแทนสูงๆมาดึงดูดคงใช้ไม่ได้ผลเหมือนในอดีตแล้ว