TOP ปักเป้า 5 ปีใช้เงิน 1.5 แสนลบ. ลงทุน-ใช้หนี้ ลั่นจ่ายปันผลดี

HoonSmart.com>>บริษัทไทยออยล์ยันฐานะการเงินมั่นคง มีกระแสเงินสด ขายหุ้นกู้ แบงก์หนุน พร้อมลงทุนโครงการพลังงานสะอาดเสร็จตามแผนปี 66 เล็งต่อยอดลงทุนโอเลฟินส์ ลดความผันผวนของกำไร สร้างความมั่นใจผู้ถือหุ้นมีรายได้ประจำจากเงินปันผล

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต

บริษัท ไทยออยล์ (TOP) จัดการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมอนุมัติให้บริษัทออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าการใช้เงินสำหรับการลงทุนและการชำระคืนหนี้ในช่วง 5 ปี (ปี 2563-2567) รวม 4,695 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือประมาณ 1.50 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุน 3,486 ล้านเหรียญสหรัฐ และชำระคืนเงินกู้ 1,209 ล้านเหรียญสหรัฐ  ซึ่งมาจากเงินสดและกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานประมาณ  2,634 ล้านเหรียญสหรัฐ และการออกหุ้นกู้ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะออกภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีวงเงินหุ้นกู้คงเหลือเพียง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ในช่วงต้นปีบริษัทมีกระแสเงินสดและเงินสดเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ทยอยใช้ไปบางส่วนสำหรับโครงการพลังงานสะอาด แต่ก็ยังมีสภาพคล่องที่แข็งแรงมาก และยังมีเงินสดที่เหลือเตรียมไว้จ่ายโครงการพลังงานสะอาดกว่า 4 หมื่นล้านบาท และมีแผนระดมเงินเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้ การขอวงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น เราให้ความสำคัญกับการจ่ายเงินปันผล เพื่อที่จะให้ผู้ถือหุ้นมีรายได้ประจำจากเงินปันผล เราเชื่อว่าเรามีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”นายวิรรัตน์ กล่าว

สำหรับแผนการใช้เงินส่วนใหญ่จะอยู่ในปี 2563 รวม 1,826 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นชำระคืนหนี้ 38 ล้านเหรียญสหรัฐ  ใช้ในการลงทุน 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ งบลงทุนส่วนใหญ่จะ ใช้ในโครงการพลังงานสะอาด (CFP)  ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันกว่า 40% จากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน มูลค่าราว 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันมีความคืบหน้าราว 39% และจะพยายามให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2566

นอกจากนี้วางแผนจะต่อยอดนำแนฟทาจากโครงการพลังงานสะอาด ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี ซึ่งมองโอกาสการลงทุนในกลุ่มโอเลฟินส์ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ  จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ จากปัจจุบันที่มีกำไรประมาณ 60-70% มาจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน  ปัจจุบันมีความผันผวนมาก  ในอนาคตมีเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจโรงกลั่นเป็น 40% ,ปิโตรเคมี 40% ,ไฟฟ้า 15% และอื่น ๆ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม 5%

นายวิรัตน์กล่าวถึงแนวโน้มการดำเนินงานว่า แนวโน้มราคาน้ำมัน จะค่อย ๆ ฟื้นตัว ขณะนี้อยู่ทีประมาณ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล  ทำให้ในไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้  บริษัทพลิกมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน และแนวโน้มของกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ก็จะมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ในไตรมาส 1 ขาดทุนจากสต็อกประมาณ  10,000 ล้านบาท หลังจากราคาน้ำมันดิบลดต่ำลงมาอยู่ที่กว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงต้นปี 2563 ที่อยู่ระดับ 65 เหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม  จากสถานการณ์โควิด-19  หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานลดลงไป 15-20% โดยเฉพาะในเดือนเม.ย.ที่ความต้องการหายไปเกือบทั้งหมด 90%  บริษัทปรับตัว ในการผลิตปรับลดกำลังการกลั่นเหลือประมาณ 95% จากปกติจะกลั่นน้ำมันเกินระดับ 100% และปรับสัดส่วนการกลั่นน้ำมันอากาศยาน เหลือ 7-10% จากเดิมที่ 20% โดยหันมากลั่นเป็นน้ำมันดีเซล ,เบนซิน และวัตถุดิบผลิตปิโตรเคมี ที่ยังมีความต้องการใช้อยู่

ส่วนต้นทุนการผลิต ก็มองหาแหล่งน้ำมันดิบที่มีราคาถูกเข้ามามากขึ้น และจะเน้นการขายในประเทศที่มีราคาสูง และส่งออกไปอินโดจีนที่ยังมีความต้องการใช้ ตลอดจนลดต้นทุนการดำเนินงานลงราว 20-30%  เพิ่มมาร์จิ้นให้ดีขึ้น โดยโครงการใดที่ไม่เร่งด่วนก็จะชะลอการลงทุนออกไป