STARK ชูโมเดลการเติบโต “ควบรวม-ซื้อกิจการต่างประเทศ” ยก IVL ต้นแบบ

HoonSmart.com>>“สตาร์ค” ชูโมเดลอาณาจักรการเติบโต จากการ  “ซื้อธุรกิจต่างประเทศ-ควบรวมกิจการ “  ยก IVL ต้นแบบ เล็งธุรกิจสายไฟ 2-3 แห่งในเอเซียและโซนตะวันตก

เปรียบเทียบการขยายอาณาจักร IVL- STARK

รู้หรือไม่ว่า !!!! การเติบโตของกิจการบริษัท  สามารถทำได้ทั้งการขยายสาขา สร้างแฟรนไชส์ สร้างตลาดใหม่ ควบรวมกิจการหรือซื้อธุรกิจอื่น และอีกมากมาย โดยวันนี้มาทำความรู้จัก บริษัทที่มีโมเดล การขยายธุรกิจจนเติบโต เป็นผู้เล่นระดับโลก โดยการควบรวมกิจการหรือซื้อธุรกิจอื่น (M&A) ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

ก่อนหน้านี้ มีบริษัทที่ประสบสำเร็จ โดยวิธีเดียวกับ STARK นั่นคือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL)  นั่นเอง

ปี 2537 …. บริษัท อินโดรามา โฮลดิ้งส์ ผู้ผลิตเส้นใยขนสัตว์รายแรกของประเทศไทย ต่อมาได้ขยายสู่ธุรกิจปิโตรเคมี ก่อตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก PET ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจปลายน้ำด้วยการผลิตพลาสติกขึ้นรูปขวดจากการร่วมทุน ผลิตขวดพลาสติกให้กับเครื่องดื่มเป๊ปซี่

ต่อมาบริษัท  เล็งเห็นว่า การขยายกำลังการผลิต โดยการสร้างโรงงานใหม่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และมีเรื่องของใบอนุญาต และกฎหมาย จึงเริ่มขยายอณาจักร โดยการควบรวมกิจการหรือซื้อธุรกิจ (M&A) ดีลแรกคือ บริษัท เข้าซื้อกิจการบริษัท อินโด โพลี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ในประเทศไทย เป็นการขยายเข้าสู่ธุรกิจโพลเอสเตอร์

ปี 2548 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  ช่วยให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือ และ มีการใช้เครื่องมือทางการเงิน ขยายธุรกิจมากยิ่งขึ้น ตอกย้ำการพัฒนาไปสู่ระดับโลก

หลังจากเข้าตลาดหุ้นได้ไม่นาน IVL เริ่มเข้าปิดดีลทั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทที่ซื้อเข้ามา มีทั้งธุรกิจต้นน้ำ หรือ การเข้าสู่ธุรกิจ PTA ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต PET และซื้อโรงงานผลิต PET ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอีก 2 แห่งที่ยุโรป

ทั้งหมดนี้ เป็นการวางรากฐาน ระหว่างการก่อสร้างบริษัท AlphaPet ในสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทแม่ หรือหัวรบ ภายใต้ชื่อ อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ในการเรียกบริษัทในกลุ่มทั้งหมด ท้ายที่สุด เมื่อ IVL รวบรวมกำลังพลธุรกิจในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรแล้วเสร็จ จึงได้ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย  โดยการออกหุ้นใหม่ แล้วแลกกับหุ้นของอินโดรามา โพลีเมอร์ส (backdoor relisting) แล้วยกเลิกการจดทะเบียน ของบริษัท อินโดรามา โพลีเมอร์ส เป็นการส่งสัญญาณสู่ตลาดระดับโลก ภายใต้ผู้นำ “อาลก โลเฮีย”

เห็นได้ว่า กลยุทธ์การรวมกันในแนวดิ่ง ทั้งเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบ PTA ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการผลิต PET หรือ การซื้อโรงงาน PET ทั่วโลกเองก็ตาม เป็นกลยุทธ์ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างมากกับบริษัท เพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้ลดต้นทุนระหว่างโรงงาน PTA และ PET หรือ PTA และ โพลีเอสเตอร์

เนื่องจาก การลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ลดต้นทุนคงที่ในเรื่องของวัตถุดิบ การขายและการตลาด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารต่าง ๆ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้าง โดยการทำ Debottleneck เพื่อตอบสนองการใช้ PTA PET และ โพลีเอสเตอร์ทั่วโลก

จะเห็นว่าช่วงปี  2555-2558 IVL  มีกำไรลดลง เนื่องจากวิกฤตน้ำท่วมและค่าใช้จ่ายในการเข้าซื้อกิจการ แต่พอสถานการณ์กลับสู่ปกติ แผนการขยายธุรกิจที่วางไว้ เริ่มสัมฤทธิ์ผล บริษัทมีกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตามประสิทธิกำลังผลิต

ณ สิ้นปี 2562 IVL  มีโรงงานทั้งหมดกว่า 109 แห่ง ใน 32 ประเทศทั่วโลก สิ่งที่น่าสนใจคือ เกินกว่า 60% เป็นการขยายโดยวิธีการควบรวมกิจการหรือซื้อธุรกิจอื่น (M&A) ปัจจุบัน IVL  เป็น TOP 5 ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก (PET) ของโลก

กว่าจะมาเป็น STARK

STARK  เป็นอีก 1 บริษัท ที่มีแนวความคิด ขยายอาณาจักรคล้ายกับ IVL นั่นก็คือ  การควบรวมกิจการ หรือซื้อธุรกิจอื่น (M&A) และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ STARK เพิ่งเริ่มฟักไข่

“STARK” เดิมชื่อ บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย (SMM) โดย “STARK”  เข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (backdoor relisting)  ผ่าน SMM หลังจากนั้น ได้ยกเลิกการทำธุรกิจเดิมของ SMM  คือ ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ โดยธุรกิจหลักของ STARK คือ ผู้ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ของบริษัท Phelps Dodge International (Thailand)  หรือ เฟ้ลปส์ ดอด์จ “PDITL” โดยทีมบริหารมือฉมั่งคือ คุณ ชนินทร์ เย็นสุดใจ นักเทิร์นอะราวด์ มากฝีมือ ผลงานเด่น เช่น โรงพยาบาลพญาไท และ โรงพยาบาลเปาโล

กรณีของ IVL การเข้าสู่ตลาดทุน เพื่อระดุมทุนและขยายธุรกิจ อย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกัน  STARK ซึ่งผู้บริหารมีวิศัยทัศน์คล้ายคลึงกัน โดยตั้งต้นเป็น  Holding Company และเติบโตด้วยการ M&A ทั้งการรวมกันในแนวดิ่งและแนวราบ

หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ได้ไม่ถึง 1 ปี STARK  เริ่มแผนการสยายปีก โดยปิดดีลแรกเข้าซื้อบริษัท อดิสรสงขลา จำกัด ดำเนินธุรกิจหลัก ให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล การให้เช่าสินทรัพย์ การรับจ้างขนส่ง และ ให้บริการปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจปิโตรเลียม

ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ รายได้หลักของ อดิสรสงขลา  คือ การส่งคน เครื่องมือ อาหาร ไปที่แท่นขุดเจาะ (RIGS) ซึ่งต้องมีบุคคลกรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ลูกค้าหลัก คือ  เชฟรอน (Chevron) และ  ปตท.สผ. (PTTEP) เป็นต้น หลายคนคงเคยได้ยินการรื้อ  ติดตั้ง แท่นขุดเจาะในเขตเอราวัณ ซึ่งบริษัท อดิสรสงขลา  ปิดดีลทำสัญญาให้บริการด้านทรัพยากรบุคคลและบริการด้านวิศวกรรมให้กับกลุ่ม Chevron และ PTTEP มูลค่าสัญญา 4,330 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2563

แล้ว 2 ธุรกิจนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร  “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ประธานกรรมการ STARK มองว่า  สายไฟฟ้าก็คือ การนำพลังงาน (ไฟฟ้า) จากจุด A ไปยังจุด B ซึ่งก็คือ โลจิสติกส์ เพียงแต่เป็นการเคลื่อนย้ายในรูปแบบของพลังงาน อีกทั้ง STARK เชี่ยวชาญการผลิตสายไฟฟ้าใต้น้ำอีกด้วย จึงทำให้ผู้ว่าจ้าง อดิสรสงขลา มีสิทธิเสนอสายไฟฟ้าของ STARK เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินงานอีกด้วย ต่อไปอาจได้เห็นดีลเข้าซื้อกิจการ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสายไฟฟ้า หม้อแปลง และ แบ็ตเตอรี่ เป็นแน่

ฝุ่นจากสงครามการค้ายังไม่ทันจบ ไวรัสร้าย Covid-19 เล่นงานเศรษฐกิจซ้ำ แต่ไม่สามารถหยุด STARK ไว้ได้  เมื่อเห็นโอกาสขยายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งในและต่างประเทศ จึงเข้าซื้อกิจการ  บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และซื้อบริษัทผลิตสายไฟเบอร์ 1 ในประเทศเวียดนาม ได้แก่ ThiPha Cable และ Dovina

ดีลนี้ถูกมองว่า เป็นการควบรวมธุรกิจสายไฟตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เสมือน IVL เพราะ เฟ้ลปส์ ดอด์จ  ธุรกิจหลักของ STARK เชี่ยวชาญการผลิตสายไฟฟ้าแรงดันกลาง-สูงพิเศษ ซึ่ง ThiPha Cable  มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสายไฟฟ้าแรงดันต่ำ-กลาง และ Dovina เป็นผู้จำหน่ายวัตถุดิบในการผลิตสายไฟฟ้า อาทิ ทองแดง และ อลูมิเนียม

การซื้อกิจการสายไฟเวียดนาม เป็นการปิดช่องว่างของ Product line, การ switch สินค้ามาจำหน่าย, เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตตั้งแต่สายไฟฟ้าแรงดันต่ำไปจนถึงสายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษ, เพิ่มอำนาจการต่อรองราคาวัตถุดิบ, ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารและเพิ่มกำลังการผลิตอย่างทวีคูณ และ ช่องทางขาย (sale channel) ดีลนี้เองทำให้ STARK ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสายไฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งได้เห็นภาพการวางรากฐานเหล่านี้กันแล้ว ในช่วงเริ่มแรกของ IVL

สำหรับเฟ้ลปส์ ดอด์จ  มีเครือข่ายลูกค้าครอบคลุมอยู่แล้ว 33 ประเทศ ผลประกอบการ ยังมิได้รวมการดำเนินงานของบริษัท ThiPha Cable และ Dovina ซึ่งจะมีการ synergy อีกมากมาย และเป็นก้าวสำคัญในการกระโดดสู่ผู้เล่นระดับโลกอีกขั้น

หากนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น model การขยายธุรกิจที่สามารถเติบโตเป็นผู้เล่นระดับ TOP 5 ของโลกอย่าง IVL โดยการควบรวมกิจการหรือซื้อธุรกิจอื่น (M&A) แล้วละก็ STARK เองจะมีพัฒนาการมากอีกขนาดไหน เพราะเพิ่งผ่านไปปีเดียว พี่ Tony  เราก้าวมาเป็นอันดับ 9 ของโลกในธุรกิจสายไฟฟ้าซะแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น EV CAR , ธุรกิจการบิน ที่มีแนวโน้มจะต้องหันมาใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น และโลกยุคดิจิทัล ที่หันไปทางไหน ก็จะเจออุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับไฟฟ้าก็คือ ตัวเก็บไฟฟ้า (แบตเตอรี่)  และ “สายไฟฟ้า”

ชนินทร์ เย็นสุดใจ  ย้ำว่า การเติบโตของ STARK จะไปในทิศทางเดียวกับ IVL คือ การเติบโตจากการซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ แผนที่จะไปคือ การซื้อกิจการสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจใช้ทองแดง สัดส่วน 70-80 % ของต้นทุน ซึ่งเฟ้ลปส์ ดอด์จ (PDITL)  เป็นผู้ซื้อทองแดงมากที่สุดในอาเซียน  หัวใจสำคัญคือ ต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ระดับโลก  ทั้งค่าแรง ค่าไฟฟ้า และทองแดง

ชนินทร์ บอกว่า การไปซื้อกิจการสายไฟฟ้าในต่างประเทศ มี 2 เป้าหมายคือ การไปหาต้นทุนค่าแรงที่ถูก และไปหามาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในประเทศนั้น ๆ พร้อมยกตัวอย่าง เฟ้ลปส์ ดอด์จ มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับโลก อยู่แล้ว จึงต้องการไปประเทศที่มีค่าแรงถูก หรือกำลังสร้างประเทศ  เช่น อินโดนีเซีย หรือ การไปโซนยุโรปตะวันตก ไปหาเทคโนโลยีการผลิต หาการตลาดใหม่ ๆ มาต่อยอดในประเทศกำลังพัฒนา

ปัจจุบัน เฟ้ลปส์ ดอด์จ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 30 % ของมูลค่าตลาดราว 5 หมื่นล้านบาท และหากรวมรายได้จากสายไฟเวียดนาม 2 แห่ง รายได้ของ STARK ต่อปี ราว 3 หมื่นล้านบาท หรือ 15 % ของอาเซียน ซึ่งจุดสำคัญของเวียดนาม คือ การยกเว้นภาษีส่งออกถึง 50 ประเทศ ขณะที่ไทยได้รับยกเว้น 20 ประเทศ ดังนั้น การซื้อไฟฟ้าเวียดนาม ทำให้การยกเว้นภาษีส่งออก เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดเวียดนามเพิ่งเซ็นสัญญากับยุโรปทั้งหมด

“ สตาร์ค จะเติบโตจากการซื้อกิจการสายไฟในต่างประเทศ ซึ่งเรากำลังเดินตามแผนนี้ เพื่อไปหาค่าแรงที่ถูก และเทคโนโลยีการผลิตของประเทศนั้น ๆ  ขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล 2-3 บริษัท ซึ่งมีสถาบันการเงินต่างประเทศมาเสนอ เป็นกิจการใกล้ ๆ ไทย และโซนตะวันตก  หลังโควิด-19 ผ่อนคลาย ต้องบินไปศึกษาของจริง ก่อนสรุปการลงทุน “ ชนินทร์ กล่าวในที่สุด