คาดแบงก์กำไรแค่ 3.86 หมื่นลบ.Q2/63 ลดลง 20.9% สินเชื่อพ.ค.โต

HoonSmart.com>>หุ้นแบงก์ดีดกลับแรง รับสินเชื่อเดือนพ.ค.ขยายตัว 0.83% กรุงไทยปล่อยมากสุดกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนกรุงศรี-ทิสโก้ยังคงหดตัว ส่วนผลงานไตรมาส 2/63 บล.ทิสโก้คาดแบงก์กำไรรวม ลดลงต่อเนื่อง 8.7% จากไตรมาสแรก  แนะนำซื้อ BBL, TMB, KKP

วันที่ 25 มิ.ย. 2563 หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นโดดเด่น นำโดยแบงก์ขนาดใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ราคาวิ่งขึ้นไปถึง 92.25 บาทก่อนปิดที่ 90.25 บาท +1.25 บาทหรือ 1.40% และธนาคารกรุงเทพ(BBL) ขึ้นไปสูงสุดแตะ110.50 บาท กลับมาปิดที่ 107.50 บาท+1.50 บาทหรือ +1.42%  เพราะราคาปรับตัวลงไปมากก่อนหน้านี้ ตกใจคำสั่งของธปท.ให้งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปีนี้และงดซื้อหุ้นคืน ในระหว่างให้จัดทำแผนบริหารเงินกองทุนในช่วง 1-3 ปี

นักลงทุนหันมาสนใจหุ้นกลุ่มธนาคาร นอกจากราคาปรับตัวลงมาก และธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งยังมีการรายงานข้อมูล เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิในเดือนพ.ค.2563 พบว่าปล่อยเพิ่มขึ้น 92,186 ล้านบาท เติบโต+0.83% จากเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ปล่อยสินเชื่อมากขึ้น  นำโดยธนาคารกรุงไทย(KTB) สนับสนุนถึง 51,747 ล้านบาท เติบโต 2.47%  แต่สินเชื่อของธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) กลับหดตัว -16,288 ล้านบาท และบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป(TISCO) ลดลง -3,988 ล้านบาท

สาเหตุที่สินเชื่อขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ต้องการให้แบงก์สนับสนุนเงินทุนให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะรายย่อย มีการอุดหนุนเงินซอฟท์โลน(ดอกเบี้ยต่ำ) รวมถึงลูกค้ารายใหญ่ยังคงต้องการใช้เงินทดแทนการขายหุ้นกู้ลำบาก และความต้องการเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง หลังจากปิดธุรกิจตามนโยบายล็อกดาวน์

ส่วนเงินฝากเดือนพ.ค.ไหลเข้าน้อยลงอย่างชัดเจน จำนวน 29,098 ล้านบาท เติบโต 0.23% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเกิดจากธนาคารขนาดใหญ่ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำ รวมถึงเงินฝากออมทรัพย์สำหรับลูกค้าทั่วไปลดลงเหลือ 0.25 % อย่างไรก็ตาม ธนาคารทหารไทย (TMB) มีเงินฝากเข้ามากที่สุด 36,092 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ไหลออก 36,552 ล้านบาท

บล.ทิสโก้ออกบทวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ใน ไตรมาส 2/2563 มีกำไรสุทธิ 3.86 หมื่นล้านบาท ลดลง 20.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 8.7% จากไตรมาสแรก สาเหตุที่ลดลงมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ( NIM) ที่ลดลง แม้ว่าสินเชื่อจะเติบโตขึ้นสูง แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่อ่อนแอ และ Credit Cost ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดัน

ธนาคารส่วนใหญ่คาดว่าจะมีสินเชื่อเพิ่มขึ้นราว 9.4% จากปกติที่ 4.6% ส่วนใหญ่มาจากมาตรการของภาครัฐเพื่อป้องกันการหดตัวของสินเชื่อ แต่ด้วย NIM ลดลงจากการลดดอกเบี้ย 2 รอบราว 0.40%ในเดือน เม.ย. หลังการปรับลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ 0.20%ในเดือน พ.ค. จากการลดดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่า โดยรวมแล้ว NIM จะลดลงราว 0.30% จากไตรมาสแรกเป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป แต่จะมีเพียง KTB ที่มี NIM เพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่มีรายการพิเศษของบริษัทเอคิว เอสเตท(AQ)

นอกจากนี้ผลของการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียม แต่ ค่าธรรมเนียมของกลุ่มหลักทรัพย์ได้ประโยชน์จากตลาดหุ้นที่คึกคักขึ้น และคาดว่าผลขาดทุนจากการลงทุนของ BBL และKBANK จะกลับมากำไรในไตรมาสนี้ และเราเชื่อว่ากลุ่มธนาคารจะปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX)ลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าการตลาด  คาดว่า OPEX ของกลุ่มจะลดลง 0.7% จากไตรมาสแรก

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPLs) จะเพิ่มขึ้นราว 0.10 %เป็น 4.19% เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. คาดว่าสินเชื่อราว 50% อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างกับธนาคารช่วยให้ไม่กลายเป็น NPLs สำหรับสินเชื่อ SME ที่มียอดต่ำกว่า 100 ล้านบาท ได้รับการพักชำระหนี้ และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหลังจากที่หมดช่วงมาตรการช่วยเหลือ ทำให้ NPLs จะกลับมาเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกปี 2564  อย่างไรก็ตาม Credit Cost จะทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเช่นในไตรมาสแรกปีนี้ แต่จะมีการบริหารการตั้งสำรองเพื่อลดผลกระทบ และเราคาดว่าธนาคารจะรักษา Credit Cost ไม่ให้เพิ่มขึ้นต่อในไตรมาสที่ 2 (ธปท. มีการผ่อนปรนการรับรู้ NPLs และลดความเข้มงวดของ ECL ลง)

“เราแนะนำให้ “ซื้อ” BBL, TMB และ KKP โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 154 บาท, 12.60 บาท และ 56.00 บาท ตามลำดับ”บล.ทิสโก้ระบุ