ชวนคิดชวนคุย : ลงทุนอย่างสมถะ

โดย….ดร.สันติ กีระนันทน์
santi_kiranand@yahoo.com

ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น ผมทำงานในแวดวงตลาดทุน ทั้งด้านตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นสามัญ และเพราะสาเหตุของงานที่ทำนั้น ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว ผมไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ใด ๆ เลย ด้วยเหตุที่อาจจะเข้าข่ายเรื่อง conflict of interest โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำ front run ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ผมไม่ได้มีข้อมูลข่าวสารอะไรมากกว่าสาธารณชนทั่วไป แม้ในบางช่วงของการทำงานในแวดวงตลาดทุนนั้น จะทำงานที่ต้องรู้ข้อมูลข่าวสารของบริษัทจดทะเบียน แต่ก็มักจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้รู้ก่อนสาธารณชน แต่เพื่อความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ ก็เลยไม่ซื้อขายหลักทรัพย์เลย คงมีเพียงการลงทุนในกองทุนรวมเท่านั้น ซึ่งการเป็นคนที่นั่งดูความเป็นไปของตลาด ก็ทำให้ไม่ได้ทุกข์ร้อนใจกับความเคลื่อนไหวของตลาดมากมายนัก ความไม่สบายใจมีเพียงแค่ทำอย่างไรจะให้ผู้ลงทุนทั้งหลายนั้น เข้าใจกับความเคลื่อนไหวของตลาด และไม่เกิดความเสียหายที่ผู้ลงทุนจะรับไม่ได้เท่านั้นเอง

เมื่อไม่ต้องทำงานในแวดวงดังกล่าวแล้ว ก็เริ่มกลับมาใช้ประสบการณ์ที่พอจะมีอยู่บ้างเพื่อเลือกลงทุนในหลักทรัพย์บ้าง อันที่จริงแล้ว เมื่อตอนที่ยังอายุไม่มากนัก เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย สอนวิชาเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนนั้น ก็ได้มีการลงทุนในหลักทรัพย์อยู่บ้าง แต่ด้วยเงินเดือนอาจารย์อันน้อยนิด ก็เป็นการลงทุนแบบขำ ๆ ไม่ได้จริงจังมากนัก ถึงเวลานี้ ก็เลยเป็นเวลาที่น่าจะพอจะเป็นนักลงทุนได้เองบ้าง ก็เลยตัดสินใจเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อลงทุนกับเขาบ้างครับ

และเมื่อเริ่มกลับเข้ามาเป็นนักลงทุน ก็พอดีเป็นเวลาที่ภาวะตลาดอ่อนตัวลงพอสมควร มี fund outflow เป็นแรงกดดันให้ดัชนีราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปรากฎการณ์ที่เห็นในยุคนี้ ต่างกับอดีตค่อนข้างมาก คือในอดีตนั้น นักลงทุนบุคคลมักจะเป็นเหยื่อของสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ในยุคนี้ ผมเห็นว่ามีนักลงทุนบุคคลจำนวนไม่น้อยที่แปรสภาพเป็น informed investor คือรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร และมีข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจในการลงทุนเป็นอย่างดี จึงเห็นได้ว่า วันที่นักลงทุนสถาบันขายหลักทรัพย์ออกมาก ๆ ก็มีแรงซื้อของนักลงทุนบุคคลเข้ามาเลือกซื้อหลักทรัพย์มากทีเดียว ซึ่งนักลงทุนบุคคลเหล่านั้นก็คงมีทั้งบุคคลที่เป็นรายใหญ่และรายไม่ใหญ่ผสมกัน

การกลับมาเป็นผู้ลงทุนบุคคลหน้าใหม่รอบนี้ ผมถามตัวเองว่าจะกำหนดหลักการลงทุนของตัวเองอย่างไรบ้าง ก็ได้คำตอบกับตัวเองที่ไม่ต่างไปจากที่ผมได้เคยพยายามชักชวนคนหลายคนให้คิดครับ

1.รู้จักตัวเองและกำหนดเป้าหมายของการลงทุน แน่นอนว่าปฐมบทของการลงทุนก็คือ การทำความรู้จักตัวเองว่าเป็นนักลงทุนประเภทไหน ซึ่งผมนิยามตัวเองว่า ผมลงทุนเพื่อเติบโตไปกับบริษัทที่ผมเลือกลงทุนด้วย และเป้าหมายการลงทุนของผม ไม่ได้หวังกำไรระยะสั้น ๆ แต่ตั้งเป้าเพื่อให้ในยามที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้จากผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการลงทุน อย่างไรก็ดี การนิยามตัวเองและตั้งเป้าหมายดังกล่าวนั้น ไม่ได้หมายความว่า เมื่อซื้อหลักทรัพย์ใดแล้ว จะไม่มีการขายออกไปเลยนะครับ

แน่นอนครับว่า หากราคาตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็คงต้องติดตามและตัดสินใจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ เสมอครับ แต่การนิยามตนเองและตั้งเป้าหมายดังที่ว่านั้น เป็นการจำกัดกรอบของหลักทรัพย์ที่ผมจะเลือกลงทุนครับว่า ผมจะไม่เลือกซื้อขายหุ้นตามข่าวลือ แต่ผมจะเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี ผมรู้จักบริษัทนั้น รู้จักธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น (ซึ่งต้องทำการบ้านครับ ไม่ใช่ฟังคนอื่นแล้วก็เชื่อเลยทันที) และจากการทำความรู้จักที่ว่านั้น ทำให้ทราบว่า “มูลค่าที่เหมาะสม” และ “มูลค่าตามบัญชี” ของบริษัทนั้นเป็นเท่าไร และเมื่อเป็นช่วงที่ตลาดอ่อนตัวลง จนราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าทั้งสองนั้น ผมก็เชื่อว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมกับการสะสมของดีราคาถูกครับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เวลาที่คนอื่นถล่มขายกันนั้น เป็นเวลาที่เหมาะสมในการ shopping ครับ เหมือนกับใครที่นิยมซื้อของตอนที่มีการทำ grand sale นั่นแหละครับ ซึ่งถ้าเตรียมตัวมาดี ก็จะได้เลือกซื้อของดีราคาถูกกันครับ

2.รู้จักหุ้นที่ตัวเองสนใจจะลงทุน นอกจากจะรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นการ “บริหารใจ” ไม่ให้ไขว้เขวไปกับภาวะตลาดที่มีความผันผวนแล้ว ต้องรู้จักสิ่งที่ตัวเองสนใจจะลงทุน ซึ่งหมายความว่า นักลงทุนที่ดี ต้องติดตามข่าวสารบ้านเมือง ติดตามข่าวสารของโลก ซึ่งจะทำให้ทราบแนวโน้มของอุตสาหกรรมของบริษัทที่ตนเองสนใจ นอกจากนั้น ถ้าอ่านงบการเงินเป็นก็ยิ่งดี แต่ต้องระวังครับ เพราะงบการเงินนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน จึงต้องใช้ข้อมูลให้เป็นครับ ซึ่งเรื่องนี้ หากยากเกินไปก็ต้องพึ่งพานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้บริการอยู่ครับ

ย้ำอีกครั้งครับ การทำความรู้จักหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนนั้น ทำให้เราทราบว่า “มูลค่าที่เหมาะสม” และ “มูลค่าตามบัญชี” เป็นเท่าไร ซึ่งในยามที่คนตกใจถล่มขายกันนั้น เราก็จะสามารถซื้อของได้ถูกกว่ามูลค่าทั้งสองนั้น โดยเฉพาะถ้าราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่า (ส่วนของเจ้าของ) ตามบัญชี ก็แสดงว่าเราน่าจะได้ของดีราคาถูกครับ แต่ย้ำนะครับว่า ต้องลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรมและบริษัทที่เรารู้จักเท่านั้น

3.เงินที่ใช้ในการลงทุนเป็น “เงินเย็น” ไม่ได้หมายความว่าเป็นสกุลเงินญี่ปุ่นนะครับ แต่หมายถึงเป็นเงินที่เราไม่ได้ใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ (คำว่าระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ได้หมายความว่าพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้นะครับ แต่อาจจะหมายถึง 2 – 3 ปี) และแน่นอนว่า ต้องวางแผนว่าในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ (2 – 3 ปี) นั้น เราจะมี “สภาพคล่อง” หรือเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อไม่ให้ต้องจำใจขายเพราะต้องเอาเงินมาใช้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาสมควรขายหุ้นนั้นออกไป

4.ใจนิ่งพอสมควร หมายความว่า ในช่วงที่คนอื่นเขาไล่ราคาซื้อกันขึ้นไปแบบเขียวยกแผงนั้น สำหรับผมแล้ว ไม่ใช่เวลาที่ผมจะเลือกซื้อหลักทรัพย์ เพราะในเวลาดังกล่าวนั้น อาจจะใจไม่นิ่ง ไล่ซื้อของกันกับคนอื่นที่เขามีเงินมากมาย ในขณะที่ผมมีเงินนิดเดียว ทำให้ผมได้ของราคาแพง และ upside เล็กมากด้วยครับ แต่ตรงกันข้าม เวลาที่เขาถล่มขายกัน ผมคิดว่าเป็นเวลาที่ค่อย ๆ เลือกดูซื้อของแบบใจเย็น ๆ ไม่รีบไม่ร้อน ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่ต้องเสียดาย เพราะอยากได้ของถูกวันนี้แต่ซื้อไม่ได้ พรุ่งนี้ อาจจะได้ของถูกกว่านี้อีกก็ได้ครับ แต่ถ้าพรุ่งนี้ไม่ได้เพราะตลาดขึ้น ก็คิดเสียว่า เรากับหุ้นนั้นไม่ใช่เนื้อคู่กัน เก็บเงินไว้ก่อนก็ได้ เงินไม่เน่าไม่เสียครับ

5.ผมเป็นพวกโบราณ ไม่ได้ใช้เครื่องมือประเภท leverage instrument ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ การทำ SBL หรือการใช้อนุพันธ์ใด ๆ ก็ตาม เพราะดังที่กราบเรียนแล้วว่า ผมไม่ใช่นักเก็งกำไร และวัตถุประสงค์ในการลงทุนของผมชัดเจนว่า ต้องการเลือกลงทุนในธุรกิจที่ดี ธุรกิจที่มีอนาคต และอยากเติบโตไปกับธุรกิจนั้น ก็ลงทุนตามกำลังที่มีอย่างเหมาะสม ไม่โลภมากเกินไป ทำความเข้าใจว่า การลงทุนในหุ้นสามัญนั้น เพราะต้องการเป็นเจ้าของ “ร่วม” ในบริษัทนั้น ไม่ใช่เพียงอยากเห็นราคาที่วิ่งหวือหวาเท่านั้น และหุ้นสามัญเป็นหลักทรัพย์เพียงประเภทเดียวที่ “มีชีวิต” ครับ คือมีความสามารถในการเติบโตได้ และแน่นอนครับ ก็สามารถจะ “ตาย” ได้เช่นเดียวกันครับ จึงจำเป็นต้องรู้จัก “เลี้ยงดู” สิ่งมีชีวิตอย่างหุ้นสามัญครับ

หลักต่าง ๆ ที่เขียนมาข้างต้นนั้น เป็นหลักง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็รู้ครับ ผมไม่ใช่นักเก็งกำไร จึงไม่ได้มีอะไรที่วุ่นวายมากนัก และไม่เรียกตัวเองว่าเป็น value investor ด้วยครับ เพราะไม่ได้มีอาชีพหลักในการเป็นนักลงทุน แต่เลือกลงทุนเฉพาะบริษัทที่มีความมั่นใจ และแน่นอนครับ หากหมดความมั่นใจกับบริษัทนั้น ก็คง divest ออกไปครับ

เขียนเรื่องนี้ให้อ่านสนุก ๆ นะครับ อย่าถือเป็นจริงเป็นจังอะไรมาก แต่ต้องเรียนให้ทราบนะครับ ผมถือหลักตามที่เขียนมาเช่นนั้นจริง ๆ ครับ