ซิลิคอนฯ ขาย IPO 100 ล้านหุ้น ชู “อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ” ธุรกิจโต หนี้ต่ำ

HoonSmart.com>>”ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี” พร้อมขาย IPO นำบริษัทเข้าซื้อขาย mai ปลายเดือน ก.ค. ระดมทุนต่อยอดธุรกิจวิจัยพัฒนาไมโครชิพ ส่งออกเกือบ 100% ตั้งเป้ารายได้โต 20%ต่อปี  ขอเวลา 4 ปี ขึ้นเบอร์ 1 ผลิตชิพติดรหัสประจำตัวสัตว์ของโลก  ฐานะการเงินแกร่ง D/E ใกล้ 0%  ปันผลสูง 

นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SIC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงปลายเดือน ก.ค. นี้ โดยมีบล.ไอร่าเป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บริษัทตั้งเป้าระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจไมโครชิพ ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีรายได้ขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปี หรือเติบโต 2 เท่า ภายใน 4 ปี (2564-2567)

บริษัทดำเนินธุรกิจออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์วงจรรวมเต็มรูปแบบ (ไมโครชิพ) แบ่งสินค้าเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (Immobilizer) 2. ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Tag) 3. ไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ (Access Control) และระบบการอ่านข้อมูล (Interrogator) ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในตลาดไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งเป้าที่จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า

” แนวโน้มการเติบโตในอนาคตมาจากการวิจัยพัฒนาสินค้าให้มีศักยภาพสูงขึ้น ในราคาที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนาตลาดและการขาย ทุกช่องทางที่ถูกต้อง เพิ่มพันธมิตรรายใหม่ “นายมานพกล่าว

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ประมาณ 25-30% ไมโครชิพสำหรับลงทะเบียนสัตว์ 33-42% และไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่และระบบการอ่านข้อมูล 27-32%

นายนัยวุฒิ วงษ์โคเมท ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี กล่าวว่า โมเดลธุรกิจของ SIC เป็นผู้ออกแบบไมโครชิพ และเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ว่าจ้างผู้ผลิตรายอื่นให้ผลิต ทำให้บริษัทไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและบริหารโรงงาน ความเสี่ยงจึงต่ำ โดยบริษัทถือครองทรัพย์สินทางปัญญา มีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ 5 ใบ และยังอยู่ดำเนินการอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้บริษัทยังมีการพัฒนาไมโครชิพและโซลูชั่นใหม่ ๆเพื่อรองรับการเติบโตอย่างมหาศาล อาทิ ธุรกิจด้านสุขภาพ เกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์เซนเซอร์ และมือถือ

“SIC เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้กับประเทศไทย (New S-Curve) เป็นการส่งออกเกือบ 100% จุดเด่น สินค้าของเราดีที่สุดในโลกและแข่งขันได้ ไม่ใช่ราคา แนวโน้มยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”นายนัยวุฒิกล่าว

บริษัทพัฒนาสินค้าที่ทำให้ต้นทุนต่ำลง มาร์จิ้นดีขึ้น พร้อมขยายตลาดใหม่  ที่ยังมีความต้องการอีกมาก เช่น ไมโครชิพสำหรับลงทะเบียนสัตว์ ตอนนี้เราขายให้กับลูกค้าที่อยู่ในประเทศที่บังคับให้ติดชิพสัตว์ทุกตัว เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐ และยุโรป ต่อไปจะมีการติดชิพมากขึ้น แม้ว่ากฎหมายไม่ได้บังคับก็ตาม ส่วนไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ก็ขายให้พาร์ทเนอร์ที่ทำกุญแจสำรองให้คนซื้อรถมือสอง มาร์จิ้นดีและตลาดแข็งแรงกว่ารถใหม่ สามารถใช้กับรถยนต์หลายรุ่น พันธมิตรไม่ต้องสต็อกของจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนต่ำ ในอนาคต บริษัทจะผลิตชิพสามารถป้องกันการปลอมแปลงสินค้าได้  เช่นกระเป๋าราคาสูง ปลายปีนี้และปีหน้าจะมีการออกชิพ วัดอุณหภูมิได้ ในการส่งนม หรือส่งยาที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ

ด้านนายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอดไวเซอรี่ ที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี กล่าวว่า SICT มีจุดเด่น เป็นหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ แตกต่างจากหุ้นที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็น อิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำและปลายน้ำ ลูกค้าของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีพาร์ทเนอร์ รายใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรม เช่นปศุสัตว์และรถยนต์ ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนาโครงการใหม่ 4-5 โครงการคาดจะออกสู่ตลาดได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

ด้านนางสาวอรุณี พูนทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน SIC เปิดเผยว่า บริษัทมีหนี้ต่ำมาก คิดเป็น D/E 0.39 เท่า หากคิดเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ย สัดส่วนเหลือเพียง 0.1 เท่าเศษ หลังเข้าตลาด mai จะลดลงอีก สะท้อนถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และยังได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ยกเว้นภาษี 8 ปี คงเหลือ 2 ปี หมดปี 2567 บริษัทจ่ายเงินปันผลอัตรากว่า 90% ของกำไร ทำให้ SIC เป็นหุ้นปันผลสูงตัวหนึ่ง

วัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ นำไปใช้ในการลงทุนในเครื่องมือ ระบบสารสนเทศ ขยายธุรกิจไมโครชิพอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีหลักของบริษัท และร่วมลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาวงจร หรือนวัตกรรมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของบริษัท ช่วยลดระยะเวลาในการพัฒนาเอง รวมไปถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

สำหรับผลประกอบการในปี 2560-ไตรมาส 1/63 บริษัทมีรายได้รวม 310 ล้านบาท 377 ล้านบาท 308 ล้านบาท และ 95.2 ล้านบาท เทียบกับ 72.9 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนอัตรากำไรสุทธิ 14.4% ,13.7% ,7.9% ,16.3 % และกำไรสุทธิ 38.7 ล้านบาท 51.7 ล้านบาท 24.5 ล้านบาท และ 15.6 ล้านบาท

ในช่วงไตรมาส 1/63 บริษัทมีรายได้ 95.2 ล้านบาท สูงเป็นประวัติศาสตร์ เกิดจากชิพกุญแจสำรองในยุโรปเริ่มกลับมาเติบโต รวมถึงกลุ่มระบบลงทะเบียนสัตว์ ส่วนกำไรในปี 62 ที่ลดลงมาก มีค่าใช้จ่ายบริหาร ปรับโครงสร้างและเตรียมตัวเข้าตลาด กฎหมายแรงงานใหม่ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปชะลอตัว

นางสาวอรุณีกล่าวว่า บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 13 โครงการ   ในงบการเงิน นับเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน มากกว่า 20% ของสินทรัพย์รวม ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต