กองทุนรวมครึ่งปี 63 มูลค่าสินทรัพย์วูบ 5.5 แสนลบ.ลด 10%

HoonSmart.com>> สมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดมูลค่าสินทรัพย์กองทุนรวมครึ่งปีแรกปี 63 หาย 5.5 แสนล้านบาท ลดลง 10% เหลือ 4.84 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 62 แตะ 5.39 ล้านล้านบาท พิษโควิดทุบหุ้น-นักลงทุนไถ่ถอนตราสารหนี้ “บลจ.กรุงศรี” มองแนวโน้มครึ่งปีหลัง SET ผันผวน ชี้ P/E สูง-ต่างชาติขายต่อเนื่อง แนะหุ้นปันผล หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี-เฮลธ์แคร์ กระจายลงทุนทองคำลดความเสี่ยง

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมทั้งระบบในช่วงครึ่งปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2563 มีมูลค่า 4,837,159 ล้านบาท ลดลง 552,548 ล้านบาท หรือ -10.25% จากสิ้นปี 2562 โดยกองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าสินทรัพย์ลดลง 300,828 ล้านบาท หรือ -11.60% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 2,593,379 ล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 2,292,550 ล้านบาท

ส่วนกองทุนตราสารทุนหรือหุ้นลดลง 239,577 ล้านบาท -16.02% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 1,495,886 ล้านบาท เหลือ 1,256,3097 ล้านบาท และกองทุนผสมลดลง 35,630 ล้านบาท หรือ -7.91% จาก 450,504 ล้านบาท เหลือ 414,874 ล้านบาท

ส่วนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ยังเติบโตในอัตรา 7.18% หรือ 12,648 ล้านบาท มาอยู่ที่ 188,815 ล้านบาทและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเติบโต 1.27% หรือ 5,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 399,557 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากแยกรายประเภทกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่าสินทรัพย์ลดลง 142,052 ล้านบาท หรือ -14.09% จากสิ้นปี 2562 ส่งผลให้ NAV จาก 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 866,381 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงสุด 144,015 ล้านบาท หรือ 68.07% จาก 211,569 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 355,584 ล้านบาท ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลก

ส่วนกองทุนประหยัดภาษีอย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ปิดขายไปเมื่อปลายปีก่อนมูลค่าลดลง 58,196 ล้านบาท หรือ -14.32% และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดลง 13,461 ล้นานบาท หรือ -4.42% ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ซึ่งมาแทน LTF มีกองทุนทั้งหมด 58 กองทุน มูลค่า 9,128 ล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการปรับตัวลดลงทั้งหมด ยกเว้นบลจ.บางกอกแคปปิตอลแห่งเดียวที่มี NAV ปรับตัวเพิ่มขึ้น 52.97% หรือจำนวน 3,535.67 ล้านบาท จาก 6,675.35 ล้านบาท สิ้นปี 2562 เพิ่มขึ้นทะลุ 10,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 10,211,02 ล้านบาท

ขณะที่บลจ.ทหารไทย มี NAV ลดลงมากสุดทั้งแง่ของเม็ดเงินและอัตราการปรับตัวลง โดย NAV ลดลงสูงถึง 260,331 ล้านบาท หรือ -56.51% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 460,689 ล้านบาท ลดลงเหลือ 200,358 ล้านบาท ผลกระทบจากความผันผวนอย่างรุนแรงของตลาดตราสารหนี้โลกจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนไถ่ถอนกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนต่างประเทศอย่างหนัก จนต้องปิด 4 กองทุนลงและปัจจุบันอยู่ระหว่างการชำระบัญชีและคืนเงินผู้ถือหน่วยลงทุน

เป้าดัชนีสิ้นปี 63 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,383 จุด

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ในครึ่งหลังของปี 2563 นี้ จากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 20 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 15 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 4 บริษัท และบริษัทโกลด์ ฟิวส์เจอร์ส 1 บริษัท โดยนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2563 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,383 จุด ซึ่งมากกว่าผลสำรวจของไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1,276 จุด และคาดว่าดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,347 จุด

ปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาส 3 นั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 รวมถึงความเสี่ยงของการเกิด Second Wave เป็นปัจจัยลำดับแรกที่มีอิทธิพลต่อทิศทางราคาหุ้นไทยระยะสั้น รองลงมาคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและผลประกอบการ ตามลำดับ

ด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลด 0.25% ในครึ่งหลังของปี 2563 ซึ่ง 60% ของผู้ตอบ และคาดว่าคงที่ 40% ตามลำดับ พร้อมทั้งคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดเฉลี่ยที่ 65.44 บาท ลดจากการสำรวจครั้งก่อน 79.70 บาท EPS Growth ของงบปี 2563 คาดว่า เฉลี่ยอยู่ที่ -22.30%

อย่างไรก็ตามมุมมองนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับการจัดพอร์ตการลงทุน มีความเห็นว่า 23.71% แนะนำลงทุนหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย รองลงมา 19.71% มองว่าลงทุนในกองทุนตราสารหนี้และ 18.53% แนะนำลงทุนในหุ้นต่างประเทศ/กองทุนหุ้นต่างประเทศ ตามลำดับ

ส่วน 5 หุ้นเด่น ได้แก่ ADVANC, CK, CPALL, CPF และ INTUCH

บลจ.กรุงศรีแนะหุ้นปันผล-เทคโนโลยี-เฮลธ์แคร์-ทอง

นายวิพุธ เอื้ออานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.กรุงศรี มองตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังยังมีความผันผวนและความไม่แน่นอน ระยะสั้นแนะนำหุ้นปันผลเป็นทางเลือกซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนระยะกลางและระยะยาว การลงทุนในหุ้นเติบโตมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีหากเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนระยะยาวฟื้นตัว

ปัจจุบันดัชนี SET เทียบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนอยู่ในระดับสูง และเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านในกลุ่ม TIP อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ปัจจุบัน มี P/E อยู่ที่ 20.4 เท่า และในปี 2564 คาด P/E ก็ยังสูงอยู่ที่ 16.3 เท่า เทียบกับอินโดนีเซียที่มี P/E ที่ 13.7 เท่า ฟิลิปปินส์ 14 เท่า จึงมองโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยมีน้อยเมื่อเทียบตลาดเพื่อบ้าน อีกทั้งยังต้องติดตามการระบาดรอบ 2 ยกเว้นมีการพัฒนาวัคซีนสำเร็จ แต่คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี

นายจาตุรันต์ สอนไว ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกยังจับตาปัจจัยการระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบ 2 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ คาดว่ายังต่ำอีกนาน 2 ปี ส่วนความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนมองว่าในช่วงนี้มีความเป็นไปได้น้อย

สำหรับมุมมองการลงทุน แนะนำให้ทยอยลงทุนเน้นประเทศที่มีการทำ QE มากๆ ในกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มเฮลธ์แคร์ รวมทั้งลงทุนในประเทศที่มีการจัดการโควิด-19 ได้ดีและมั่นใจว่าจะไม่กลับมาระบาดระลอก 2-3 ซึ่งกลุ่มประเทศเอเชียมีโอกาสฟื้นก่อนยุโรป โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนระดับ P/E ที่น่าสนใจ รวมทั้งแนะนำกระจายลงทุนทองคำ เนื่องจากแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ยังคงมีข่าวร้ายเป็นระยะ และเงินล้นตลาดไม่มีที่ไป

อ่านข่าว