บล.กสิกรฯ แนะรอรับ 1,330 , 1,300 จุด กำไรบจ.-โควิดชี้นำหุ้น

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์หน้า แนวต้าน 1,365 และ 1,380 จุด แกว่งตามผลประกอบการบจ.ไตรมาส 2/63 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด จากสัปดาห์ก่อนตลาดหุ้นโลกร่วง กังวลล็อกดาวน์ ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยคาดแกว่ง 31.10-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังอ่อนค่าลงในรอบ 1 เดือนที่ 31.35 บาท 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองว่า ตลาดหุ้นสัปดาห์ถัดไป (13-17 ก.ค.) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,330 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,365 และ 1,380 จุด ตามลำดับ

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเด็นขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น( BOJ)และธนาคารกลางยุโรป( ECB)รวมถึงจีดีพีไตรมาส 2/63 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ของจีน

หุ้นปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,350.50 จุด ลดลง 1.59% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 71,254.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.57%   ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.10% มาปิดที่ 302.74 จุด

ดัชนีหุ้นแกว่งตัวอิงขาลงตลอดสัปดาห์ ถูกกดดันเช่นเดียวกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังรุนแรง-ยืดเยื้อ และเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศต่างๆ จะต้องกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้แม้นักลงทุนต่างชาติจะสลับเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยในระหว่างสัปดาห์ แต่ภาพตลาดโดยรวมถูกถ่วงตามแรงขายของนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก

สำหรับค่าเงินบาท สัปดาห์ถัดไป (13-17 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.10-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/63 และตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนมิ.ย. ด้วยเช่นกัน

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน โดยทยอยอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ตามปัจจัยทางเทคนิค หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนว 31.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ ประกอบกับตลาดมีความกังวลมากขึ้นต่อสัญญาณการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้าออกไป อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยในระหว่างสัปดาห์ช่วยจำกัดกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทไว้ได้บางส่วน

ในวันศุกร์ (10 ก.ค.) เงินบาทกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 31.27 บาท หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 31.35 บาท เทียบกับระดับ 31.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 ก.ค.)