“มอร์นิ่งสตาร์” เผย Q2/63 กองทุนนอกอู้ฟู่ “ทอง” กวาดแชมป์ครึ่งปี-1 ปี

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์” เผยครึ่งปี 63 เงินไหลออกกองทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท NAV ร่วง 10% เหตุปิดกองทุนตราสารหนี้เงินไหลออกซบแบงก์ มองครึ่งปีหลังเงินไหลกลับเหตุดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ภาพรวมยังติดลบจากปีก่อน เศรษฐกิจหด กำไรบจ.ถูกพิษโควิด ประเมินเงินไหลเข้ากองทุนประหยัดภาษีลดลง เหตุปรับเงื่อนไขคำนวณภาษี หวังกองทุนหุ้นต่างประเทศหนุน ด้าน “กองทุนทองคำ” กวาดแชมป์ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดรอบครึ่งปี-1 ปี ด้าน “กองทุนหุ้นเทคโนโลยี” มาแรงไตรมาส 2/63 กำไรโต 27%

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2563 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อยู่ที่ 4.8 ล้านล้านบาท ลดลง 10.3% จากสิ้นปี 2562 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.3 ล้านล้านบาท โดยมีเงินไหลออกสุทธิครึ่งปีแรก 3.5 แสนล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมไตรมาส 2/2563 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลเข้ากองทุนรวมตราสารตลาดเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท และกองทุนตราสารทุน 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุน Commodities เป็นเงินไหลออกสุทธิ -3.1 หมื่นล้านบาท -6.9 พันล้านบาทและ -2.6 พันล้านบาทตามลำดับ

“ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ยังเป็นการโยกย้ายเงินไปที่ตราสารเสี่ยงต่ำตามภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่ยังมีความเสี่ยงและความความผันผวนสูง ส่วนใหญ่เงินไหลเข้าสุทธิในกลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก มีเพียงกลุ่ม Money Market, TH Sector Focus Equity, Aggressive Allocation และ Equity Large-Cap ที่เป็นกลุ่มที่เน้นลงทุนในประเทศที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ”น.ส.ชญาณี กล่าว

กลุ่ม Money Market เป็นกลุ่มที่นักลงทุนให้ความสนใจต่อเนื่อง โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 7.3 หมื่นล้านบาท รวม 6 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.8 แสนล้านบาท

ด้านกองทุนกลุ่ม Global Bond ซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีเฉลี่ยที่ 5.1% จึงอาจทำให้กองทุนกลุ่มนี้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิราว 9.6 พันล้านบาท รวม 6 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท

สำหรับกองทุนตราสารทุนในไตรมาส 2 นักลงทุนให้ความสนใจโดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ เงินไหลเข้ากองทุนกลุ่ม Global Equity 8.3 พันล้านบาท, China Equity 4.2 พันล้านบาท, Global Health Care 2.8 พันล้านบาท, Global Technology 2.4 พันล้านบาท ซึ่งกองทุนเหล่านี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด หรือบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์ จากสถานการณ์ COVID-19 สะท้อนจากผลตอบแทนที่ค่อนข้างโดดเด่นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะกลุ่ม Global Technology ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 27.9%

ด้านกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ หลังจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องเกิดขึ้นกับตราสารหนี้ไทยทำให้แรงขายกองทุนรวมตราสารหนี้มีแนวโน้มลดลงไปบ้าง กลุ่ม Flexible Bond (ลงทุนในตราสารหนี้ไทย 25%-75% ของมูลค่าทรัพย์สิน) มีเงินไหลเข้าสุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาสล่าสุด โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุนจาก บลจ. ไทยพาณิชย์ รวม 3.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากรวมผลกระทบจากไตรมาสแรกกองทุนกลุ่มนี้ยังมีเม็ดเงินไหลออกสุทธิสูงสุดรอบ 6 เดือนที่ -2.1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันกลุ่มกองทุน Short Term Bond มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 รวม -3.8 หมื่นล้านบาท ลดลงจากระดับ -6 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรก รวม 6 เดือนมีเงินไหลออกไปแล้วรวม -1.0 แสนล้านบาท

ด้านกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term fund) มีการเติบโตค่อนข้างดีจากปริมาณเงินไหลเข้าและอัตราผลตอบแทนที่ดีขึ้น โดยกลุ่ม Global Bond มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.1 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เริ่มมีแรงขายกองทุนทองคำมากขึ้นจากราคาทองที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินไหลออกจากกองทุนทองคำกว่า 6 พันล้านบาท

สำหรับกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF SSF และ SSFX) ยังมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% จากเดือนมี.ค.2563 โดยเกิดจากการปรับตัวขึ้นดัชนี SET Index เป็นหลัก เพราะหากดูทิศทางของ flow จะพบว่าในไตรมาส 2 ยังเป็นเงินไหลออกสุทธิราว -2.6 พันล้านบาท รวม 6 เดือนแรกเป็นเงินไหลออกสุทธิ -8.7 พันล้านบาท

“แม้ว่าดัชนี SET Index จะปรับตัวขึ้นในช่วงในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ทำให้ผู้ลงทุนให้ความสนใจกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มากนัก โดยมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิเพียงเล็กน้อย 423 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) รวม 6 เดือนยังเป็นเงินไหลออกสุทธิ -5.2 พันล้านบาท เช่นเดียวกับกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องรวม 6 เดือนที่เกือบ -3 พันล้านบาท”น.ส.ชญาณี กล่าว

กองทุนรวม SSFX มีการเปิดขายจำนวน 20 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 1.1 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 1 ก.ค.2563 โดยกองทุน SSFX ได้รับความสนใจในช่วงแรกและช่วงท้ายของการเปิดขาย โดยเดือนมิ.ย.มีเงินไหลเข้าสุทธิรวมราว 8.5 พันล้านบาท โดย 5 บลจ. ขนาดใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดกองทุน SSFX รวม 86% โดยปัจจุบันกองทุนจากบลจ. กสิกรไทยเป็นกองทุน SSFX ขนาดใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.1 พันล้านบาท ในขณะที่กองทุน SSF ยังไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก และส่วนใหญ่ยังเป็นเงินลงทุนในกลุ่มหุ้นไทย

น.ส.ชญาณี กล่าวว่า ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนรวมในไตรมาส 2/2563 ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่มตราสารทุนต่างประเทศ นำโดยกลุ่ม Global Technology ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 27.9% เช่นเดียวกันกับกองทุนหุ้นไทยที่มีการปรับตัวขึ้นโดดเด่นไม่แพ้กัน โดยกลุ่มกองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 27.6% และ กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ ที่ 17.6% ในทางกลับกัน กองทุนตราสารหนี้ไทย Mid/Long Term Bond ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -0.5% ซึ่งต่ำสุดในช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่กองทุนทองคำ (Commodities Precious Metals) ยังคงเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนโดดเด่นสำหรับปีนี้ โดยในไตรมาสที่ผ่านมามีผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่ม 7.7% ทำให้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดที่ 23.2% ตรงกันข้ามกับกองทุนน้ำมัน (Commodities Energy) ที่ยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากที่สุดในรอบ 1 ปีที่ -43.2% แม้ว่าในไตรมาสล่าสุดจะเป็นบวกเล็กน้อยที่ 4.2% ตามราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นมาจากช่วงต้นปี


สำหรับแนวโน้มการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สุทธิกองทุนรวมในครึ่งปีหลัง แม้คาดว่าจะมีเงินโยกออกจากเงินฝากแบงก์เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำไหลกลับเข้ามากองทุนรวม แต่การเติบโตไปแตะ 5.3 ล้านล้านบาท เท่ากับสิ้นปี 2562 อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผลตอบแทนของกองทุนรวมอาจฟื้นตัวไม่ทันจากแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP หดตัวลง -8.1% จากเดิม -5.3% ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนแนวโน้มลดลง ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนจากการลงทุนในหุ้นไม่ได้เติบโต

ด้านตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่มีหุ้นกลุ่มแบงก์และพลังงานที่มีมาร์เก็ตแคปสูงมีผลต่อดัชนี เมื่อทั้งสองกลุ่มแนวโน้มยังไม่ดี โอกาสที่จะหนุนดัชนีหุ้นไทยและเพิ่มมูลค่าต่อกองทุนหุ้นไทยจึงเป็นไปได้น้อย ต่างจากกองทุนหุ้นต่างประเทศที่มีสตอรี่มีปัจจัยสนับสนุนส่งผลต่อตลาด เช่น หุ้นกลุ่มโทคโนโลยี ได้ผลดีจากการล็อกดาวน์หลังเกิดโควิด-19 ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวได้ดีหนุนตลาดหุ้นสหรัฐ ดังนั้นครึ่งปีหลังจึงต้องอยู่ที่กองทุนหุ้นต่างประเทศว่าจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องได้หรือไม่

นอกจากนี้การจะหวังเงินไหลเข้ากองทุนประหยัดภาษีเหมือนปีก่อนๆ ยังประเมินได้ยาก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขกองทุนประหยัดภาษีหลังมีกองทุน SSF ถูกนำมารวมคำนวณกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วงเงินรวม 5 แสนบาท ลดลง 50% ประกอบกับเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หลายอาชีพตกงาน เลิกจ้างหรือมีรายได้น้อยลง อาจทำให้ฐานภาษีจ่ายลดลงและอาจไม่ลงทุนกองทุนที่ได้ลดภาษีก็มีความเป็นไปได้ จึงต้องรอประเมินสถานการณ์ต่อไป

อ่านข่าว

ปิดฉากกองทุน SSFX กวาด 8.8 พันลบ. แรงซื้อกระจุกตัว 5 บลจ.

กองทุนรวมครึ่งปี 63 มูลค่าสินทรัพย์วูบ 5.5 แสนลบ.ลด 10%