แน่งน้อยร้อยเรื่องลงทุน : แบงก์แกร่งเกินคาด ผ่านบททดสอบ GDP-13% มาแล้ว

20 ก.ค. 63 ธนาคารพาณิชย์มากกว่า 3 แห่ง นัดเปิดตัวเลขกำไรสุทธิงวดไตรมาส 2/63 อาทิ KBANK, SCB, TMB คาดว่าจะลดลงทั้งจากไตรมาส 1/63 และไตรมาส 2/62 เช่นเดียวกับ TISCO ผู้นำประกาศกำไรสุทธิ 1,333 ล้านบาท หดตัว -10.3%จากไตรมาสแรก และ -25.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรวม 6 เดือนปีนี้กำไรสุทธิ 2,819 ล้านบาท ลดลงประมาณ 20% จากระยะเดียวกันปีก่อนทำกำไรได้ 3,527 ล้านบาท ถือว่าตลาดซึมซับข่าวนี้ไปแล้ว

นักลงทุนอย่าตกใจทิ้งหุ้น หากแบงก์ประกาศกำไรไตรมาส 2 ออกมาลดลง โดยไม่มีตัวเลขอะไรเซอร์ไพรส์!!!

ทุกคนทราบกันดีกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความแข็งแรง มีเงินกองทุนสูงกว่าที่กำหนดไว้ไกลมาก พร้อมจะฝ่าฟันสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ไปได้อย่างแน่นอน และเชื่อว่าการบ้านที่แบงก์จะทำส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้ เกี่ยวกับการบริหารเงินกองทุนภายใต้วิกฤติการณ์โควิด ทุกแบงก์จะสอบผ่าน หลังจากที่เคยทดสอบความสามารถของสถาบันการเงินเพื่อจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจ Stress test เมื่อปี 62 ที่ผ่านมา โดยธปท.ใช้สมมุติฐานที่เข้มข้นและมองไปข้างหน้าว่าสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ GDP หดตัวแรงถึง -13% ซึ่งผลที่ออกมาตอนนั้น หลายแบงก์ เข้มแข็งมาก แต่บางแห่งก็พอถูไถไปได้  สรุปน่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ GDP หดตัว -8.1% ในปีนี้ไปได้ทุกแห่ง

Stress test แบบเข้มข้นในปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธปท.มีข้อมูลปัจจุบัน สามารถตัดสินใจนโยบายสำคัญๆได้ในปีนี้ เช่นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือเพียง 0.50% และลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจาก 0.64% เหลือ 0.23% ของเงินฝาก เพื่อแลกกับการลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทของ 4 ธนาคารใหญ่ ช่วยลดภาระให้แก่ลูกหนี้ และยังออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป

ปัจจุบันออกมาตรการในระยะที่ 2 ช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละราย เพราะส่วนหนึ่งยังคงมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้  ทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มอื่น ๆ ได้อีกต่อไป

ซึ่งในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 63 มีคำถามว่าแบงก์จะช่วยลูกหนี้ได้อย่างไร “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ตอบว่า มีทั้งการยืดตารางชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ลดเงินต้น บางครั้งก็มีการแปลงหนี้เป็นทุน

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ผู้ประกอบการจะต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด โดยการสำรวจสถานะทางการเงิน ปรับลดค่าใช้จ่าย-งบลงทุน รวมถึงปรับตัวตามความต้องการขายสินค้าและบริการ  จึงมีการจัดโปรโมชั่น ที่น่าสนใจ  เพื่อต้องการกระแสเงินสดและสภาพคล่องมาหล่อเลี้ยงองค์กรเฉพาะหน้า

ขณะเดียวกัน ธปท. มีงานใหญ่ ในการช่วยเหลือเฉพาะธุรกิจที่มีปัญหาหนัก คือ ภาคท่องเที่ยว จำนวนโรงแรมที่มีอยู่มากมาย คงจะเห็นการล้มหายตายจากบ้าง เพราะสายป่านไม่ยาวเพียงพอ คงรอนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาไม่ไหว เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์  แม้ว่าจะมีการลดราคาขายลงแล้วก็ตาม   บางแห่งยังมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระมาซ้ำเติม  ต้องเจรจายืดหนี้ออกไปให้สำเร็จ

ปัญหาของภาคธุรกิจโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ใหญ่มาก   ธปท.  เพียงแห่งเดียวคงช่วยผ่านระบบสถาบันการเงิน คงไม่เพียงพอ ทุกหน่วยงานจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เอง สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเข้ามาดูแล เช่น กองรีท ‘กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)’ แต่ต้องยอมรับว่า กำลังซื้อของคนไทย มีไม่มากเพียงพอที่จะซึมซับมูลค่ามหาศาลของธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ไปได้

จะต้องจับตาว่า ทางการจะหาทางออกอย่างไร เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้  และกองรีทที่จะเกิดขึ้นใหม่ ยังเป็นแหล่งลงทุนหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน  ในภาวะดอกเบี้ยต่ำมากอีกด้วย