ความจริงความคิด : การบริหารสภาพคล่องที่ได้ประโยชน์ทางภาษี

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ตอนที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนขายกองทุนรวมอยู่นั้น ส่วนใหญ่ผมมักจะแนะนำลูกค้าให้บริหารภาษีด้วยการออมเงินในกองทุนรวมโดยเทียบกับการออมเงินในรูปแบบอื่นๆ

ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าฝากออมทรัพย์อยู่ แม้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ผลตอบแทนของเงินฝากออมทรัพย์ต่ำมาก (ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่อยู่ที่ 0.25%/ปี เท่านั้น) และซ้ำร้ายกว่านั้น มีลูกค้าหลายคนเข้าใจเรื่องภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ผิด คิดว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาทไม่ต้องเสียภาษีนั้นนับเฉพาะดอกเบี้ยของแต่ละธนาคาร เลยใช้วิธีแยกฝากออมทรัพย์หลายๆธนาคาร โดยให้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ได้จากแต่ละธนาคารไม่เกิน 20,000 บาท

ซึ่งวิธีดังกล่าว ผิดครับ เพราะกรมสรรพากรไม่สนว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์จะมาจากธนาคารไหน กรมสรรพากรสนใจแค่ว่าเราในฐานะผู้มีเงินได้ในปีนั้นได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์รวมทุกธนาคารเท่ากับเท่าไหร่ ถ้ามากกว่า 20,000 บาท เราก็ต้องเสียภาษี และจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 344 สรรพากรกำหนดให้ ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยของลูกค้าให้กับกรมสรรพากร ปีละ 4 ครั้ง

ดังนั้น สรรพากรจะรู้จำนวนดอกเบี้ยออมทรัพย์ของทุกคนทุกธนาคาร ถ้ากรมสรรพากรตรวจสอบแล้วพบว่า บุคคลไหนได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี สรรพากรจะแจ้งให้ธนาคารดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 15% ทันที หลายคนอ่านถึงตรงนี้ก็อาจแย้งในใจ งั้นสั่งแบงค์อย่าให้ข้อมูลสรรพากรจะได้ป่าว ทำได้ครับ เพราะกฎหมายกำหนดให้บุคคลธรรมดาต้องยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูล แต่ถ้าไม่ยินยอมให้แบงค์ส่งข้อมูล ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทันทีโดยไม่สนใจว่าจะมีดอกเบี้ยถึง 20,000 บาทหรือไม่ครับ สรุปถ้าดอกเบี้ยออมทรัพย์เกิน 20,000 บาท ส่งข้อมูลหรือไม่สูง เสียภาษี 15% เท่ากัน

ทางเลือกที่ผมมักแนะนำลูกค้าก็คือ การแบ่งเงินบางส่วนไปออมในกองทุนตลาดเงิน (money market fund) ที่มีขายทุกธนาคาร และมีลักษณะคล้ายเงินฝากออมทรัพย์ คือ ฝากถอนได้ทุกวัน แต่ให้โอกาสของผลตอบแทนที่สูงกว่า และมีความปลอดภัยสูง เพราะลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ A- ขึ้นไป สวนข้อเสียของกองทุนประเภทนี้ คือ ลงทุน 100% ในตราสารหนี้ ดังนั้นดอกเบี้ยที่ได้รับจากตราสารหนี้ที่ลงทุน ผู้ออกตราสารหนี้จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เหมือนเราลงทุนโดยตรง ย่อมส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนรวมบ้าง และผลตอบแทนของกองทุนจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับตราสารและอัตราดอกเบี้ยขณะลงทุน และต้องถอนในเวลาทำการที่กำหนด ถอนวันนี้ได้เงินวันพรุ่งนี้

ดังนั้นการบริหารสภาพคล่องของผม จึงใช้วิธีเก็บเงินในบัญชีออมทรัพย์เพียงพอใช้จ่ายซัก 15 วัน ที่เหลือออมในกองทุนตลาดเงินเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้เงินออมของตัวเอง หรือลูกค้าที่ชอบฝากประจำ ประเภท 3 เดือน 6 เดือน สามารถใช้กองทุนรวมช่วยได้มั๊ย ก็ได้เหมือนกันครับ เพราะเดี๋ยวนี้ธนาคารต่างๆก็มีกองทุนรวมประเภท 3 เดือน 6 เดือนเหมือนเงินฝากประจำมาขายเหมือนๆกัน

แล้วนอกจากกองทุนรวมแล้ว มีทางเลือกอื่นที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนบ้างหรือไม่ ก็มีครับ ทางเลือกหนึ่งที่คนนิยมกันมาก ก็คือ สหกรณ์ ครับ

พูดถึงเรื่องสหกรณ์ บางท่านทราบดี บางท่านอาจจะงง จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ได้ประโยชน์ทางภาษียังไง

นิยามคำว่า “สหกรณ์” หมายถึง องค์กรทางเศรษฐกิจและสังคมที่สมาชิกร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยการลงหุ้นร่วมกัน จัดการร่วมกันในการผลิต การจำหน่ายสินค้าหรือบริการตามความต้องการหรือผลประโยชน์อย่างเดียวกันของบรรดาสมาชิก สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิออกเสียงได้หนึ่งเสียงในการบริหารสหกรณ์ โดยไม่ขึ้นกับจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ และได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ สหกรณ์มีหลายรูปแบบครับ เช่น สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น

เมื่อสมาชิกสหกรณ์ลงหุ้นร่วมกัน ผลตอบแทนที่ได้ คือ เงินเฉลี่ยคืนที่สมาชิกสหกรณ์ได้รับ หรือที่เรียกว่า เงินปันผล ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรฉบับที่ 40 สมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนจึงไม่ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ เมื่อสหกรณ์จ่ายเงินดังกล่าวให้สมาชิกสหกรณ์ก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด

ส่วนสมาชิกสหกรณ์บางท่านที่มีเงินเหลือใช้และได้นำเงินไปฝากสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ ดอกเบี้ยจากการฝากเงินนั้นก็ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (8)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทอื่นๆ ต้องเสียภาษีและหักภาษี ณ ที่จ่ายตามปกติ

และอย่างไรก็ตาม เงินฝากในสหกรณ์ไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือนเงินฝากธนาคาร เนื่องจากสหกรณ์ไม่ได้เป็นสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก (เช่นเดียวกับเงินลงทุนในกองทุนและหุ้นกู้ต่างๆนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นเงินฝากจึงไม่ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน) เราจึงเห็นข่าวออกมาหลายข่าวเกี่ยวกับปัญหาของสมาชิกสหกรณ์ที่ไม่สามารถถอนเงินต้นคืนได้ทั้งจำนวน เนื่องจากสหกรณ์มีปัญหาทางการเงิน ดังนั้น ก่อนเลือกออมในสหกรณ์อะไร ก็ควรตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของสหกรณ์นั้นๆก่อนลงทุน อย่าให้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่เยอะมาทำให้เราสูญเสียเงินออมที่อุตส่าห์หามา