THAI ขอเวลาฟื้นฟูกิจการ 3-5 ปี NOK ศาลนัดไต่สวน 27ต.ค. BA-AAVถูกชอร์ต

HoonSmart.com>>ธุรกิจการบินขาลงยาวกว่าที่คาด “การบินไทย”ลุ้นศาลสั่งเข้าฟื้นฟูกิจการปลายเดือนส.ค. ยันเจ้าหนี้ 70-80% หนุน มั่นใจพลิกฟื้นกิจการได้ภายใน 3-5 ปี  “สายการบินนกแอร์”ยื่นฟื้นฟูกิจการ ศาลรับคำร้องเรียบร้อยแล้ว ราคาดิ่งฟลอร์ ส่วนการบินกรุงเทพ -เอเชีย เอวิเอชั่น มีรายได้เสริม ยืนระยะได้ AOT ราคาลงต่อ “ไออาต้า”ปรับคาดการณ์ไปถึงปี 67 กว่าจำนวนผู้โดยสารทั่วโลกจะกลับมาเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด

บริษัทการบินไทย (THAI) จัดการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 31 ก.ค.63  โดยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า เจ้าหนี้ทั้งต่างประเทศและในประเทศประมาณ 70-80% ของจำนวนเจ้าหนี้ เห็นด้วยที่บริษัทจะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ดีกว่าปล่อยให้ล้มละลาย ซึ่งในวันที่ 17 ส.ค.นี้ศาลล้มละลายนัดไต่สวนคำร้องแผนฟื้นฟูที่จะพิจารณาเหตุผลการเข้าฟื้นฟูจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว แนวทางการฟื้นธุรกิจ และผู้บริหารแผนทั้ง 6 รายมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

ในการไต่สวนคำร้อง คาดว่าศาลลัมละลายกลางจะพิจารณาคำสั่งเพียง 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.บริษัทสมควรได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และ 2.สมควรแต่งตั้งคณะผู้บริหารแผนที่บริษัทเสนอไปหรือไม่  หากศาลให้บริษัททำแผนฟื้นฟูฯ จะลงราชกิจจานุเบกษาให้เจ้าหนี้มายืนยันภายในไม่เกิน 3 เดือนจะยื่นแผนฟื้นฟู ถ้าได้รับอนุมัติ จะสามารถปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น เหมือนที่เคยดูธุรกิจ บริษัทไออาร์พีซีหรือ IRPC

“หากศาลเห็นชอบให้บริษัทฯเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู และแต่งตั้งผู้บริหารแผน 6 รายที่เสนอไป บริษัทสามารถมีเงินกู้มาหมุน และหากมีการผลิตวัคซีนในปลายปี 64 ก็หวังว่าบริษัทจะกลับมามาเปิดบินได้ตามปกติ  โดยมีความมั่นใจว่าจะใช้เวลา 3-5 ปีในการพลิกฟื้นกิจการ เพราะธุรกิจยังมีข้อได้เปรียบอยู่มาก และมีจุดแข็งของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดโลก ติด 1 ใน 10 สายการบินที่ดีที่สุดในโลก”นายชาญศิลป์กล่าว

ขณะเดียวกันบริษัทได้ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และหารายได้เพิ่มในธุรกิจที่มีความถนัด  เช่น ครัวการบิน ขนส่งสินค้า  และจัดเที่ยวบินพิเศษ ระหว่างเดือน มี.ค.-ก.ค.63 บริษัทมีรายได้จากการขนส่งสินค้าและจัดเที่ยวบินพิเศษ ประมาณ 1,826 ล้านบาท และยังมีรายได้จากฝ่ายครัวการบิน ตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย.  ประมาณ 500 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องเพียงพอกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ที่บินบางเส้นทางในลักษณะเที่ยวบินพิเศษ เช่น ในเดือน ส.ค.จัดเที่ยวบินไปลอนดอน 3 เที่ยวบิน แฟรงเฟิร์ต 2 เที่ยวบิน ซิดนีย์ 4-5 เที่ยวบิน นอกจากนี้จัดเที่ยวบินไปเฉิงตู นาริตะ เพื่อรับคนไทยจากต่างประเทศ และขนส่งสินค้า

นายชาญศิลป์กล่าวว่า เจ้าหนี้ต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบิน เห็นใจที่บริษัทต้องจอดเครื่องบินในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 แต่กฎหมายบางประเทศไม่รับการหยุดพักชำระหนี้ (Automatic Stay) จากที่บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ  บริษัทก็ต้องไม่ทำการบินในประเทศนั้นๆ ส่วนเจ้าหนี้จำนวนน้อยกว่า 30% ที่ยังไม่เห็นด้วยกับการฟื้นฟูกิจการ ส่วนหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกู้  คิดเป็นประมาณกว่า 10% ของมูลหนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล้านบาท

ด้านบริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) แจ้งว่า วันที่ 30 ก.ค.2563 คณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและให้เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง พร้อมยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันเดียวกัน ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว โดยกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 27 ต.ค.2563 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งการเพิ่มเหตุการขึ้นเครื่องหมาย C จากปัจจุบันหุ้นถูกขึ้นแขวนป้าย C เนื่องจากมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50%ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบการเงินงวดไตรมาส 4/ 62 ทำให้หุ้น NOK ปรับตัวลดลงติดฟลอร์ทันทีตั้งแต่เปิดตลาด ราคาแตะ 0.72 บาท ลดลง 0.12 บาท หรือ -14.29% มูลค่าการซื้อขาย 2.62 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 ก.ค.63ที่ผ่านมา

ส่วนหุ้นการบินที่เหลืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์อีก 2 บริษัท คือ บริษัทการบินกรุงเทพ (BA) และบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น(AAV) คาดว่าไม่จำเป็นต้องยื่นฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากโมเดลธุรกิจ มีรายได้อื่นๆ เข้ามาช่วย เช่น AAV มีรายได้เสริมเกือบ 20% ส่งผลให้ราคาหุ้นปิดที่ 1.81 บาท +0.01 บาท และ AAV ปิดที่ 5.70 บาทไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีการขายหุ้นล่วงหน้า(ชอร์ต) หุ้น BA จำนวน148,700 หุ้น มูลค่า 848,525 บาท คิดเป็นสัดส่วน 11.48%ของการซื้อขายหุ้น BA ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วน AAV มีการขายชอร์ตจำนวน 2.4 ล้านหุ้น มูลค่า 4.3 ล้านบาท สัดส่วน 7.90 %

ด้านบริษัทท่าอากาศยานไทย(AOT) ราคายังคงปรับตัวลง ปิดที่ 51.50 บาท -0.75 บาท หรือ 1.44% ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 2,404 ล้านบาท ขณะที่ตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวขึ้นกว่า 12 จุด

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(IATA) หรือ ไออาต้า ปรับคาดการณ์ธุรกิจการบินจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และต้องรอถึงปี 67 กว่าจำนวนผูโดยสารทั่วโลกจะกลับมาเท่าช่วงก่อนเกิดโควิดไม่ใช่ปี 66 อย่างที่คาดก่อนหน้านี้

อ่านประกอบ

https://hoonsmart.com/archives/130402

NOK ยื่นศาลฯ ขอฟื้นฟูกิจการ แบกหนี้ 2.6 หมื่นลบ.สูงกว่าทรัพย์สิน