RATCH-ALT ปั้น “สมาร์ท อินฟราเนท” รุกโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงทั่วปท.

HoonSmary.com>> “ราช กรุ๊ป–เอแอลที” ผนึกกำลังปั้น “สมาร์ท อินฟราเนท” รุกตลาดโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงทั่วประเทศ รองรับสังคมดิจิทัล การพัฒนาเมืองและโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เล็งเป้าหมายชิงส่วนแบ่งตลาดสื่อสารและโทรคมนาคม หลังเพิ่มทุน 549 ล้านบาท ซื้อโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง 2 โครงการ จาก ALT มูลค่า 530 ล้านบาท

กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ

บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2563 บริษัท สมาร์ทอินฟราเนท จำกัด (SIC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นร่วมกับบริษัท เอแอลที เทเลคอม (ALT) ในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 549 ล้านบาท เป็น 550 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วนของบริษัท  279.99 ล้านบาท   เพื่อนำเงินไปซื้อโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง จำนวน 2 โครงการ จาก ALT รวมมูลค่า 530.87 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่วนเงินที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ 2 โครงการ ได้แก่ โครงข่ายใยแก้วนำแสงตามแนวทางรถไฟและทางหลวง และโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินผ่านท่อใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บนถนน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน-ประดิพัทธ์ และถนนพญาไท  ปัจจุบัน SIC ได้ชำระราคาและรับโอนทรัพย์สินแล้วเสร็จ

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า หนึ่งในเป้าหมายหลักตามแผนธุรกิจของบริษัทฯ มุ่งมั่นเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในปี 2566 ให้ถึง 20% ของการลงทุนรวม ปัจจุบันบริษัทฯ มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของประเทศ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้า ทางหลวงระหว่างเมือง น้ำประปา อินเตอร์เน็ตออฟติงส์ และโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง

สำหรับ SIC ซึ่ง RATCH ถือหุ้น 51% จะเป็นแกนหลักในการสร้างฐานธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม ผ่านการให้บริการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นสำหรับภาคธุรกิจในการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบฉับพลันและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและประสิทธิภาพสูงสุดให้กับผู้บริโภค

ในส่วนของสินทรัพย์ที่ SIC รับโอนมาจาก ALT จะเป็นฐานสำคัญที่จะสร้างรายได้นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป และขยายฐานลูกค้าไปยังผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต นอกเหนือจากลูกค้าผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

“โครงข่ายสายใยแก้วนำแสงจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงภาคไฟฟ้าและพลังงาน ที่กำลังพัฒนาไปสู่ยุคที่ผู้บริโภคสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้เอง หรือ Prosumer การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีกำกับ ตรวจสอบและควบคุมระบบการผลิตไฟฟ้า การส่งไฟฟ้า และการจำหน่ายไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟ บริษัทฯ มั่นใจอย่างยิ่งว่า SIC จะเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่ลูกค้าให้ความไว้วางใจใช้บริการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง จากการที่มีคลื่นสัญญาณกว้างขวางครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและขยายโอกาสทางธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ” นายกิจจา กล่าว

ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์

ด้านนางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม (ALT) และในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด กล่าวว่า การจับมือกับ RATCH เป็นพันธมิตรจัดตั้ง SIC สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับ SIC จะดำเนินธุรกิจให้บริการเช่าโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง โดยมีเป้าหมายขยายกลุ่มลูกค้าไปสู่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ซึ่ง RATCH เป็นผู้นำและเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ที่จะช่วยให้โอกาสและศักยภาพการแข่งขันของ SIC แข็งแกร่งขึ้น

“SIC เป็นการผนึกกำลังของ ALT และ RATCH ในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านสื่อสารโทรคมนาคมไม่เพียงรองรับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่จะขยายขอบเขตไปยังลูกค้าธุรกิจพลังงานไฟฟ้า เพราะการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในอนาคตมีแนวโน้มจะใช้โครงข่ายสายใยแก้วนำแสงเป็นโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะทั้งด้านการผลิตและการใช้กระแสไฟฟ้า และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่วิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีการสื่อสารมากขึ้น อุปกรณ์เครื่องใช้เน้นการเชื่อมต่อสื่อสารผ่านระบบไร้สาย หรือที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things -IOT) พัฒนาการเหล่านี้เป็นธุรกิจแนวใหม่ที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Economy Sharing) ลดการลงทุนซ้ำซ้อนตามนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลงอีกด้วย” นางปรีญาภรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ SIC จัดตั้งขึ้นมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2562 เพื่อการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ โดยการรับโอนโครงการดังกล่าว จะส่งผลดีต่อการดำเนินกิจการของ SIC ในการขยายฐานลูกค้าโครงการ จากเดิมที่อ้างอิงจำกัดอยู่กับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ไปสู่กิจการไฟฟ้า รวมถึงสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงินให้มีความพร้อมต่อการขยายธุรกิจในอนาคตต่อไป