SGP ลุ้นงบ Q2/61 โตแรง ยอดขายทะลัก-บาทอ่อน

SGP แย้มรายได้ไตรมาส 2 โตตามเป้า อานิสงส์ราคาก๊าซ LPG พุ่ง-ยอดขายทะลัก-บาทอ่อน เผยทุ่มงบกว่า 1.4 พันล้านบาท ตั้งบริษัทร่วมทุนทำธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมในบังคลาเทศ เปิดฉากบุกตลาดเอเชียใต้ของ ”สยามแก๊ส” มั่นใจช่วยผลักดันยอดขายทะลัก

นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากยอดขายที่เติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่ราคาก๊าซในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสที่ผ่านมา รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท

ศุภชัย วีรบวรพงศ์

ด้านที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท อนุมัติให้ Siamgas Global Investment Pte. Ltd. (SGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศสิงคโปร์ที่บริษัทถือหุ้นร้อยละ 100 เข้าร่วมลงทุนในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในประเทศบังคลาเทศ โดย SGI ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทย่อยแล้ว ภายใต้ชื่อ PACIFIC GAS BANGLADESH LIMITED เพื่อดำเนินธุรกิจค้าผลิตภัณฑ์ก๊าซปิโตรเลียม ในประเทศบังคลาเทศ มีทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านทากา หรือประมาณ 1,566 ล้านบาท โดย SGI ถือหุ้นร้อยละ 90 และ ADVANCED EQUIPMENT LIMITED ถือหุ้นร้อยละ 10

“ถือเป็นการบุกตลาดเอเชียตะวันตกของสยามแก๊ส จากเดิมที่บริษัทมีการขายก๊าซ LPG เป็นลำเรือ แต่การเข้าไปลงทุนในครั้งนี้จะทำให้สามารถขายในลักษณะขายปลีก ซึ่งมี margin สูงกว่า โดยมั่นใจว่าหลังจากที่ทุกอย่างแล้วเสร็จตามแผน จะช่วยผลักดันยอดขายก๊าซ LPG ในบังคลังเทศและยอดขายรวมของกลุ่มสยามแก๊สได้”

ทั้งนี้ จากข้อมูลจำนวนประชากรของบังคลาเทศในปี 2559 มีประชากรกว่า 163 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่และมีศักยภาพในการเติบโตสูง

สำหรับแหล่งเงินลงทุนครั้งนี้จะมาจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงินและเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ ซึ่งสถาบันการเงินพร้อมซัพพอร์ตเต็มที่ โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับ 0.85 เท่า

อนึ่ง SGP ถือเป็นหนึ่งในผู้นำในการจัดจำหน่ายก๊าซแอลพีจีในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออก ดำเนินธุรกิจค้าก๊าซแอลพีจีใน 5 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศไทย , ประเทศจีน , ประเทศสิงคโปร์ , ประเทศมาเลเซีย , และประเทศเวียดนาม รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศเมียนมา

กลุ่มสยามแก๊สถือเป็นผู้ค้าก๊าซแอลพีจีรายใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ภายใต้แบรนด์ “สยามแก๊ส” และ “ยูนิคแก๊ส”